สาระน่ารู้จากหมอตาตอน ภัยจากดอกไม้ไฟ ( Fireworks injury )

สาระน่ารู้จากหมอตา

คงจะเคยได้ข่าวอุบัติเหตุทางตาจากดอกไม้ไฟอยู่เนืองๆ ในเทศกาลลอยกระทง การจุดบั้งไฟ เทศกาลหรืองานที่มีการฉลองด้วยการจุดพลุต่างๆ เมื่อเร็วๆ นี้มีบทความในวารสาร American academy ophthalmology (AAO) เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2516 พูดถึงอันตรายจากดอกไม้ไฟ (firework) ซึ่งน่าจะหมายรวมถึงเครื่องสำหรับจุดในเทศกาลต่างๆ รวมถึง ดอกไม้ไฟ พลุ ประทัด ไฟพะเนียง บั้งไฟ ตะไล เป็นต้น มีรายงานในหัวข้อ Firework Safety โดยอ้างถึงรายงานจาก firework injury report ของสหรัฐอเมริกา รายงานไว้ว่า มีผู้ได้รับอันตรายจากดอกไม้ไฟมากกว่า 10,500 ราย ในปี 2014 นั้น มีผลถึง ตาถึง 1,300 ราย ซึ่งเป็น 2 เท่าของปี 2012 (มีประมาณ 600 ราย) แสดงถึงอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นจากการละเลยไม่ระวัง ผลต่อตาอาจเป็นเพียง กระจกตาถลอก (corneal abrasion), มีลักษณะของตาที่ถูกสารเคมี (chemical burn), ตาที่ได้รับอันตรายจากความร้อน (thermal burn), กล่าวกันว่าดอกไม้ไฟบางชนิดให้ความร้อนสูงถึง 2,000 องศาฟาเรนไฮเลยทีเดียว ที่ร้ายแรงลงไปอีก อาจก่อให้เกิดเลือดออกภายในตา, จอตาหลุดลอก, ตลอดจนลูกตามีการฉีกขาด (globe rupture) ได้

จากการสังเกตพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งที่ได้รับอุบัติเหตุ ผู้ป่วยอยู่ใกล้ๆที่จุดเกิดเหตุ และมักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 35% มีผู้เสนอแนะเพื่อเป็นการป้องกันให้ปฏิบัติดังนี้

  1. อยู่ไกลจากบริเวณที่จุดดอกไม้ไฟ โดยเฉพาะดอกไม้ไฟที่มีพลังสูงให้ไกล 500 ฟุตขึ้นไป
  2. อย่าจับต้องดอกไม้ไฟ แม้ขณะยังไม่ได้จุด
  3. ห้ามเด็กเล่น แม้จะเป็นพลุ/ดอกไม้ไฟเล็กๆ ก็ตาม
  4. ใช้แว่นป้องกันตาเสมอ

หากได้รับอุบัติเหตุจากดอกไม้ไฟ พลุ ควร

  1. พบหมอทันที
  2. ห้ามขยี้ตา
  3. ไม่ควรล้างตา
  4. อย่ากดบริเวณ ตา
  5. ไม่ควรพยายามหยิบเศษอะไรที่ติดที่ ตาออก
  6. ไม่ควรป้ายยาอะไรใส่ในตาทั้งสิ้น