สาระน่ารู้จากหมอตาตอน: การทารุณเด็ก (Child abuse)

สาระน่ารู้จากหมอตา

คุณพ่อ : ถ้าหนูทำผิดหรือดื้อจะต้องถูกพ่อทำโทษนะ

เบลล์ (เด็กหญิงวัย 10 ปี) : วันนี้หนูเพิ่งเรียน social study พูดถึง children right นะคะ และมีบทหนึ่งพูดเรื่อง child abuse ด้วย พ่ออย่าลืมคำนี้นะคะ

คุณย่า คุณพ่อ ทึ่งในความรู้ของเด็กวัย 10 ปี ถึงการรู้จักทั้ง children right และ child abuse แต่คงไม่เข้าใจความหมายมันดีนัก

ภาวะ child abuse ขอแปลว่าเป็นการทารุณกรรมเด็ก เป็นการทำร้ายเด็กอาจเป็นทางกาย ทางจิตใจ ทางเพศ รวมทั้งเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเหลียวแล ทางองค์การอนามัยโลกให้นิยามว่า เป็นการกระทำต่อเด็กแบบผิดๆ (child maltreatment) กล่าวกันว่าเด็กที่เป็นเหยื่อในภาวะนี้ คาดว่าในสหรัฐอเมริกามีประมาณ 2 ล้านรายต่อปี เมื่อปี ค.ศ. 2012 องค์กรที่ชื่อว่า Child Protective Service (CPS) กล่าวถึง children’ s right ซึ่งเป็นการปกป้องเด็กจากการกระทำที่ไม่สมควร เมื่อปี 2012 CPS คาดว่ามีเด็ก 9 คน จาก 1000 คน ใน USA เป็นเหยื่อของ child abuse ซึ่งจำนวนที่ว่านี้น่าจะต่ำกว่าจริงไปมาก องค์กรที่ไม่เป็นทางการคาดว่าอาจพบถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว

การทำร้ายหรือทารุณกรรมต่อเด็กบางครั้งอาจอาศัยประวัติช่วย เช่น การให้ประวัติความเจ็บป่วยที่วกวน ให้การแต่ละครั้ง หรือแต่ละคน เช่น จากพี่เลี้ยงอย่างหนึ่ง จากบิดา มารดา อีกอย่างหนึ่ง จากประวัติที่เชื่อถือไม่ได้ เช่น เด็กตัวเขียวคล้ำไปทั้งตัวกับประวัติที่ว่าเด็กหกล้ม ซึ่งไม่น่าจะเขียวไปทั้งตัว หรือเด็ก 2 เดือนที่ยังพลิกคว่ำไม่ได้ แต่ให้ประวัติว่าพลิกคว่ำตกเตียง เด็ก 6 เดือน ปีป่ายจนตกลงมา เหล่านี้ทำให้หมอนึกถึงการทารุณเด็กมากกว่าอุบัติเหตุตามประวัติ

เด็กที่ถูกทำร้ายบางรายอาจมีอาการรุนแรงทางสมอง เช่น มีเลือดออก (subdural haemorrhage หรือ subarachnoid haemorrhage) ตลอดจนเนื้อสมองช้ำ บางรายถึงแก่ชีวิต บางรายทำให้มีอาการทางสมองตามมาเมื่อเติบใหญ่

มีผู้รายงานว่าเด็กที่ถูกกระทำนี้ มักมีอายุต่ำกว่า 3 ปี มีโอกาสพบความผิดปกติทางตาได้บ่อยถึงร้อยละ 40 ด้วยเหตุนี้หากสงสัยเด็กถูกทารุณ เด็กนั้นควรจะรับการตรวจตาอย่างละเอียดเสมอจากจักษุแพทย์ ซึ่งความผิดปกติทางตาที่พบได้ ได้แก่ ขอบตาเขียวช้ำ เลือดออกใต้เยื่อบุตา มีเลือดในตา (hyphema หรือ vitreous haemorrhage) ต้อกระจก แก้วตาเคลื่อนที่ ตลอดจนเลือดออกที่จอตา ซึ่งมักจะพบเลือดออกบริเวณผิวของจอตา (preretina หรือ N fibre layer haemorrhage และเลือดออกที่จอตามักจะพบบริเวณขั้วของจอตา (posterior pole)

การทารุณเด็กที่มีผู้กล่าวถึงบ่อย คือ การเขย่า (shaken baby syndrome) มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ถูกบิดามารดา พี่เลี้ยง จับตัวเขย่าอย่างแรงเป็นเวลานาน ซึ่งนำไปสู่ภาวะเลือดออกในสมอง จากการเคลื่อนไหวของเนื้อสมองภายในกะโหลก อีกทั้งเด็กมักถูกตีบริเวณศีรษะด้วย มีโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิต ความผิดปกติทางตาที่พบได้ คือ มีเลือดออกที่จอตา มีหลายรายงานที่ตรวจพบเลือดออกภายในน้ำวุ้นตาเป็นจำนวนมากอย่างน่าตกใจถึงความรุนแรง เลือดที่ออกนี้บางรายเป็นไม่มากก็อาจหายไปได้เองใน 1 - 2 สัปดาห์หรือหลายเดือน โดยไม่ทิ้งร่องรอยผิดปกติไว้ ในรายที่เป็นมาก นอกจากมีเลือดออกแล้ว จอตายังบวมเป็นรอยพับ (fold) ทำให้จอตาแยกชั้นออกจากกัน (retinoschisis) ทำให้สายตามัวลงมาก

ลักษณะที่ผิดปกติของจอตาจากแรงเขย่าที่แปลกก็คือ จะไม่พบร่องรอยผิดปกติบริเวณรอบๆตา ตลอดจนภายในตาส่วนหน้าเลย การพบเลือดออกในจอตาเด็กเป็นสิ่งที่แพทย์ควรระลึกถึงภาวะนี้ไว้ด้วย