สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: แก้วตาเทียมยุคปัจจุบัน

สาระน่ารู้จากหมอตา

เลนส์หรือแก้วตา เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในลูกตาเกือบจะตรงใจกลางลูกตา และในช่วงแรกเกิดจะมีความใส ทำหน้าที่ร่วมกับกระจกตา (ตาดำ) รวมแสงจากวัตถุมาโฟกัสที่จอตา เกิดการเห็นวัตถุนั้นๆ และเป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์เสื่อมไป ทำให้เลนส์เป็นฝ้าขาวขุ่น บดบังมิให้แสงผ่าน ที่เรียกกันว่า “โรคต้อกระจก” เมื่อมันขุ่นมัวจึงต้องเอาออก นั่นคือ การผ่าตัดเอาต้อกระจกออก หรือชาวบ้านอาจเรียกว่า ลอกต้อกระจก เมื่อเอาเลนส์ออกจะอาศัยกระจกตารวมแสงอย่างเดียวคงไม่พอ หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจึงต้องสวมแว่นตาหรือใช้คอนแทคเลนส์ชดเชยเลนส์ที่เอาออกไป การรักษาวิธีนี้ทำกันมานาน จนกระทั่งมีเรื่องเล่ากันมาว่า นักศึกษาแพทย์ท่านหนึ่งขณะดูการแสดงผ่าตัดลอกต้อกระจก ถามอาจารย์ขึ้นว่าทำไมอาจารย์ไม่เอาเลนส์ของคนอื่นมาฝังแทน คล้ายๆ การบริจาคอวัยวะทั่วไปเป็นการชดเชยแก้วตาที่เอาออกไป ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องใส่แว่นหรือใช้คอนแทคเลนส์ จึงเกิดความคิดเอาเลนส์ของผู้อื่นมาฝัง แต่การปรากฏว่าเลนส์ของคนที่จะบริจาคที่เสียชีวิต ซึ่งมักจะมีอายุพอสมควรก็ไม่ใสเท่าที่ควร อีกทั้งการหยิบจับแม้เพียงเบาๆ เลนส์นั้นจะขุ่นมัวมากขึ้นทันที การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์จากผู้บริจาคจึงเลิกรากันไป

ต่อมาจักษุแพทย์ชาวอังกฤษบังเอิญได้ตรวจตานักบินท่านหนึ่งพบเศษ plastic ฝังอยู่หน้าม่านตาภายในลูกตาชิ้นเล็กๆ และสังเกตพบรูเข้าบริเวณขอบตาดำเล็กๆ เป็นแผลเป็นจางๆ พอสังเกตได้ เป็นการยืนยันว่าเจ้า plastic ที่ฝังอยู่นั้นมาจากข้างนอกเข้าไปในตา แต่เนื่องจากเป็นเศษเล็กๆ ผ่านแผลเล็กๆ และแผลก็หายได้เองเหมือนแผลเล็กๆ ในร่างกายบริเวณอื่นที่หายได้เองโดยไม่ต้องเย็บ เมื่อซักประวัติย้อนหลังจึงทราบว่าเศษวัสดุนั้นเป็น plastic ชนิดหนึ่งชื่อ PMMA (polymethylmetacrylate) จึงเกิดความคิดที่จะฝน plastic ชนิด PMMA ให้มีกำลังหักเหของแสงเหมือนเลนส์ธรรมชาติฝังเข้าในตาแทน ที่เป็นการเปิดศักราชของแก้วตาเทียม ซึ่งทำการฝังเข้าไปในตาครั้งแรกโดย Harold Ridley แต่เป็นที่น่าเสียดาย เนื่องจากการผ่าตัดในสมัยนั้นยังไม่ละเอียดพอ การผ่าตัดทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ช้ำมาก อีกทั้งเลนส์ที่ฝัง กำลังหักเหของเลนส์ไม่ตรงกับตาผู้ป่วย ในสมัยนั้นไม่มีเครื่องมือที่จะจัดว่าควรใส่เลนส์เบอร์อะไร จึงทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงมีการวิจัยเรื่อยมาถึงวิธีคำนวณหาขนาดแก้วตาเทียมที่เหมาะสม วัสดุที่เหมาะสม ศึกษาว่าจะให้มันยึดอยู่ในตาบริเวณไหนดี และทำอย่างไรจะยึดให้อยู่ไม่หลุด ควรจะใช้วัสดุอะไรที่ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในตาที่รุนแรง การพัฒนาแก้วตาเทียมจึงมีเรื่อยมาจนปัจจุบัน จากแก้วตาเทียมธรรมดา มาเป็นชิ้นพิเศษที่เรียก Premium IOL

โดยสรุป แก้วตาเทียมที่มีใช้กันในบ้านเราในปัจจุบันมี 3 ชนิด ได้แก่

1. Monofocus IOL เป็นแก้วตาเทียมที่มีกำลังหักเหหรือโฟกัสเดียว เสมือนหนึ่งแว่นสายตาที่มีเลนส์เดียวจึงมองได้ชัดระยะเดียวซึ่งเรามักจะเห็นสายตาไกลเป็นหลัก เป็นสายตาที่ใช้ประจำวัน หากฝังแก้วตาเทียมชนิดนี้ถ้าจะมองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ เย็บผ้า ใช้แว่นสายตาผู้สูงอายุช่วย อย่างไรก็ตามในผู้สูงอายุบางรายที่เน้นสายตาใกล้ เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยมีภารกิจมองไกล ชอบอ่านหนังสือประจำ ก็อาจเลือกชนิดมองใกล้ ซึ่งกลุ่มนี้หากต้องการมองไกลมากนานๆที ก็อาจทำแว่นตาสำรองชนิดมองไกล ตลอดจนอาจเลือกกำลังเลนส์ระยะกลางๆ คือ มองได้ชัดในระดับไม่ไกลไม่ใกล้ก็ได้

อนึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจเลือกแก้วตาเทียมชนิดนี้มองไกลตาข้างหนึ่ง และมอใกล้ตาอีกข้างก็ได้ เรียก กันว่า monovision

2. Multifocal IOL ถือเป็นแก้วตาเทียมชนิดพิเศษ (premium) มีกำลังหักเหหลายโฟกัสคล้ายๆเลนส์แว่นตาหลายโฟกัส ผู้ที่ได้รับการฝังแก้วตาเทียมชนิดนี้ จะมองได้หลายระยะ ทำให้เกือบไม่ต้องพึ่งแว่นตาอีกเลย มองได้ทั้งระยะไกลและใกล้ บางชนิดอาจจะเน้นระยะไกลตั้งแต่ 20 ฟุต และอ่านหนังสือใกล้ที่ระยะ 1 ฟุตได้ หรือบางชนิดอาจเน้นที่ระยะไกล และระยะกลางในกรณีต้องมองไกล และมองระยะกลาง เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์ ด้วยกระบวนการผลิตเลนส์ชนิดนี้ทำให้เสมือนแสงจากวัตถุแบ่งมาให้ที่เลนส์มองไกล และบางส่วนที่เลนส์มองใกล้ จึงทำให้ภาพทั้งไกลและใกล้พอเห็นได้ แต่ไม่คมชัด และภาพกึ่งกลางระหว่างไกลและใกล้ก็ไม่ชัด ไม่เหมือนเลนส์โฟกัสเดียวที่แม้เห็นระยะเดียวแต่คมชัดกว่า อีกทั้งมีเงาและแสงสะท้อน (halo and glare) มากกว่า ทำให้เกิดความรำคาญ โดยทั่วไปตาจะค่อยๆ ปรับทำให้อาการเหล่านั้นน้อยลง อีกประการหนึ่งเลนส์ชนิดนี้มีผลต่อ contrast sensitivity ทำให้การมองเห็นในเวลากลางคืนลดลง กล่าวกันว่ากระบวนการผลิตเลนส์ชนิดนี้จะได้ผลสมบูรณ์ต้องใช้ตาหรือผ่าตัดฝังเลนส์แบบเดียวกันทั้ง 2 ข้าง จึงนิยมทำในผู้ที่คาดว่าน่าจะต้องผ่าตัดตาอีกข้างในเร็ววัน ข้อเสียของเลนส์ชนิดนี้อีกอย่างก็คือ การฝังเลนส์จะต้องฝังอยู่บริเวณตรงกลางพอดีไม่คลาดเคลื่อน หากคลาดเคลื่อนจะมีผลต่อการมองเห็นอย่างมาก อีกทั้งการวัดขนาดของเลนส์ต้องถูกต้องแม่นยำมาก ท้ายที่สุดเลนส์ชนิดนี้ยังมีราคาแพงกว่ามาก โดยสรุปเลนส์ชนิดนี้ไม่ควรใช้ใน

  • ผู้ที่มีโรคตาอื่นร่วมด้วย ที่มีผลต่อสายตา เช่น จอตาเสื่อม กระจกตาเป็นแผลเป็น เส้นโยงแก้วตาอ่อนแอ เป็นต้น ผู้ป่วยเหล่านี้แม้เกิดการคลาดเคลื่อนของกำลังสายตาเล็กน้อย แต่มีผลเปลี่ยนแปลงสายตาได้มาก ทำให้สายตาที่ออกมาไม่ชัดเจนตามที่ผู้ป่วยคาดหวัง
  • ผู้ที่ทำงานต้องการความคมชัด เช่น สถาปนิก ผู้ทำงานกับหนังสือหรือตัวเลข
  • ผู้ที่จำเป็นต้องขับรถในเวลากลางคืนมาก
  • กล่าวกันว่าผู้ซึ่งเคยมีสายตาสั้นมาก่อน มักจะไม่ค่อยพอใจกับเลนส์ชนิดนี้ อีกทั้งต้องใช้เวลาในการปรับตัวเข้ากับเลนส์นานกว่า
  • ผู้ที่มีบุคคลิกพิเศษ คาดหวังผลที่ได้มาก เช่น คาดว่าจะไม่ต้องใช้แว่นอีกเลย หรือมีการเห็นชัดมากทุกระยะ เป็นต้น

3. Toric IOL เป็นแก้วตาเทียมชนิดที่แก้ไขสายตาเอียงด้วย ในกรณีผู้ที่มีสายตาเอียง แก้วตาเทียมชนิดmonofocus สามารถแก้ไขสายตาสั้น ยาว ร่วมไปได้ แต่ไม่สามารถแก้สายตาเอียงได้ จึงมีผู้ผลิต IOL ชนิดแก้ไขสายตาเอียงร่วมด้วย แก้วตาเทียมชนิดนี้คล้าย Monofocus IOL มองเห็นชัดระยะเดียว คงต้องใช้แว่นสายตาช่วยในการมองระยะใกล้ แต่เดิมในผู้ที่มีสายตาสั้นและเอียง หากเป็นต้อกระจก สามารถคำนวณแก้ไขสายตาสั้นในแก้วตาเทียมได้ หลังผ่าตัดยังมีสายตาเอียงเหลืออยู่มาก ภาพจึงไม่คมชัดจำเป็นต้องแก้สายตาเอียงซึ่งอาจทำได้โดยใช้แว่น ใช้มีดกรีดกระจกตาลดภาวะสายตาเอียง ตลอดจนทำ Lasik แก้สายตาเอียง หากมีสายตาเอียงไม่มาก ภาพคมชัดพอใช้ได้ก็ไม่ต้องแก้ไขก็ได้

ในปัจจุบัน บ้านเรามีแก้วตาเทียมให้เลือก 3 แบบ แล้วแต่การใช้สายตาของผู้ป่วย การพัฒนาของแก้วตาเทียมคงจะมีไปเรื่อยให้ได้แก้วตาเทียมที่เห็นคมชัดทุกระยะ ขจัดปัญหาแสงกระจายและ contrast ที่ลดลงไป คงทำให้ผู้สูงอายุมีสายตาที่ดีที่สุดได้