สาระน่ารู้จากหมอตาตอน: สารพันปัญหาของสายตาสั้น

สาระน่ารู้จากหมอตา

สายตาสั้นเกิดจากกำลังหักเหของแสง (จากกระจกตาและแก้วตา)ไม่ได้สมดุลกับความยาวลูกตา หากกำลังหักภาพ/แสงมากเกินไป หรือลูกตายาวเกินไป จึงทำให้เกิดสายตาสั้น เมื่อกำลังหักเหมากเกินไปต้องแก้ด้วยเลนส์เว้าซึ่งจะลดกำลังหักเหลง อาจแบ่งสายตาสั้นออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่าสายตาสั้นปกติ (simple myopia) ถือว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับสายตาปกติ ถือว่าเป็นค่าผกผันไปจากค่าเฉลี่ยไปบ้างแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าปกติ กับอีกกลุ่มที่เรียกว่า โรคสายตาสั้น (pathologic or malignant myopia) กลุ่มสายตาสั้นปกติมักจะสั้นไม่เกิน 6 D (ที่เรียกกันว่า 600) ส่วนอีกกลุ่ม ได้แก่ คนที่มีสายตาสั้นมากกว่า 6 D ขึ้นไป มักจะมีโรคตาหลายๆอย่างเกิดขึ้นในเวลาต่อมา คนส่วนใหญ่ที่สายตาสั้นมักจะอยู่ในกลุ่มตาสั้นปกติ

โดยทั่วไปเด็กที่เกิดมาปกติ ลูกตายังมีขนาดเล็ก (ความยาวลูกตาน้อย) จะมีกำลังหักเหภาพ/แสงมากเพื่อให้แสงตกลงที่จอตาพอดี เด็กแรกเกิดมักจะมีสายตายาว คือ กำลังหักเหของภาพน้อยเกินไปหรือลูกตาสั้นเกินไป ดังนั้นเด็กเล็กที่วัดสายตาว่ามีสายตายาวส่วนมากจะมีสายตาปกติในเวลาต่อมา เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นร่างกายมีกระบวนการที่เรียกว่า emmetropization ปรับตาตัวเองให้มีสายตาปกติ เช่น ถ้าลูกตาสั้น กระจกตาควรจะเพิ่มความโค้งเป็นการเพิ่มกำลังหักเหของแสง กระบวนการนี้หากทำไม่ได้ดีจึงนำมาซึ่งสายตาผิดปกติในบางคน

สิ่งที่ผู้ปกครองกังวลถึงบุตรหลานที่มีสายตาสั้นต่างๆ เช่น

  1. ค่าสายตาที่วัดได้จากเครื่องวัดสายตาอัตโนมัตินั้น เชื่อถือได้แค่ไหน สามารถนำค่านั้นไปตัดแว่นเลยได้หรือไม่ ค่าสายตาจากเครื่องอัตโนมัติควรนำมาพิจารณาชี้นำว่าเด็กควรจะมีสายตาประมาณนั้น แต่ไม่ใช่เท่านั้น โดยเฉพาะในเด็กที่มีกำลังเพ่งมาก เวลาเข้าเครื่องตรวจมีการเพ่ง สายตาสั้นที่ได้มักจะมากเกินจริงเสมอ โดยเฉพาะแว่นอันแรกควรจะวัดภายใต้การลดการเพ่งด้วยการใช้ยาในกลุ่มลดการเพ่ง (cycloplegic) ซึ่งมักจะได้ค่าสายตาสั้นน้อยกว่าค่าที่ได้จากเครื่องเสมอ การตัดแว่นควรจะเป็นค่าสายตาที่น้อยกว่าที่วัดจากเครื่อง
  2. ลูกยังเล็กยังไม่ใส่แว่นได้ไหม โดยทั่วไปถ้าเด็กมีสายตาสั้นแต่ไม่ก่อให้เกิดการเดือดร้อนอะไร เช่น เรียนหนังสือชั้นอนุบาล ห้องเรียนเล็กๆ ก็คงไม่จำเป็นหรือยังไม่ต้องใช้แว่นก็ได้ ในวัยอนุบาล บางทีสายตาสั้นถึง 3 D อาจยังไม่ต้องใช้แว่นก็ได้ ยกเว้นในกรณีที่ตรวจพบว่าสายตาสั้นทั้ง 2 ข้าง ต่างกันมาก โดยเฉพาะต่างกันเกิน 3 D จะทำให้ตาข้างที่สั้นมากเกิดภาวะไม่ใช้งานตามมาด้วยภาวะตาขี้เกียจ (โดยทั่วไปสายตาสั้น 2 ข้างที่ต่างกันตั้งแต่ 3D ขึ้นไปหรือตา 2 ข้างสั้นมากกว่าหรือเท่ากับ -8D มีโอกาสเกิดภาวะตาขี้เกียจได้) หรือสั้นมากจนมองกระดานเวลาเรียนหนังสือไม่ชัดเจน หากไม่แก้เด็กอาจมีประสิทธิผลการเรียนไม่ได้ดังที่คาดไว้
  3. ผู้ปกครองสงสัยว่า ถ้าลูกสายตาสั้นแล้วใช้แว่นประจำ อาจทำให้เด็กติดแว่น ถอดแว่นไม่ได้เลย แต่เดิม เวลามองด้วยตาเปล่า พอเห็นบ้าง แต่หลังจากใส่แว่นแล้ว พอถอดแว่น ตาจะมัวลงกว่าเดิมมาก เข้าทำนองใส่แว่นแล้วทำให้สายตาสั้นลงเร็วขึ้น เป็นความเชื่อถือที่ผิด เด็กที่มีสายตาสั้นจนมองกระดานไม่ชัดก่อนจะมีแว่นใช้ เด็กจะมีวิธีทำให้เห็นชัดโดยการหรี่ตา หยีตาซึ่งทำให้มองเห็นชัดกว่าตาเปล่า เมื่อเคยได้ใส่แว่นที่เห็นภาพชัดไม่จำเป็นต้องหยีตาอีก เมื่อถอดแว่นไม่หยีตาช่วย ภาพจึงไม่ชัด หรือในเด็กบางคน อาจมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้น ตาจึงมัวมากขึ้นเมื่อไม่ใส่แว่น ยังไม่มีข้อพิสูจน์หรือมีการศึกษาที่ยืนยันว่า การใส่แว่นทำให้สายตาสั้นลงเร็วกว่าไม่ได้ใส่ แต่การใส่แว่นทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นไม่ต้องหรี่ตาเวลามอง การหรี่ตาบ่อยๆ ทำให้กล้ามเนื้อรอบ ตาทำงานมากกว่าปกติ เกิดอาการเมื่อยล้าได้ อีกทั้งนานเข้า เสียบุคลิกที่ต้องหรี่ตา กระพริบตาบ่อยจนติดเป็นนิสัย
  4. สงสัยว่าในกรณีเด็กสายตาสั้น ใส่แว่นบ้าง ถอดแว่นบ้าง จะดีกว่าใส่แว่นตาตลอดหรือไม่ หากสายตาสั้นในขนาดที่อาจเกิดภาวะตาขี้เกียจ ควรจะใส่แว่นตลอดดีกว่าแน่นอน หากเป็นสายตาสั้นธรรมดาทั่วไป เนื่องจากสายตาสั้น ภาพไกลไม่ชัดต้องใส่แว่นอยู่แล้ว แต่มองใกล้ โดยเฉพาะผู้มีสายตาสั้นตั้งแต่ 3D ลงมาอ่านหนังสือด้วยตาเปล่าได้ชัดเจน หากจะใส่เฉพาะมองกระดานดำหรือมองไกล แต่ถอดแว่นเวลาอ่านหนังสือบ้างก็คงทำได้ หากสั้นมาก เช่น 5 D เวลาอ่านหนังสือ ถ้าถอดแว่นอาจจะต้องถือหนังสือชิดตามากเกินไปไม่สะดวก กลุ่มนี้ก็อาจจะใส่แว่นตลอดทั้งมองไกลและใกล้ ขึ้นอยู่กับความพอใจและสะดวกสำหรับเด็ก โดยทั่วไป การแก้ไขสายตาสั้นนอกจากให้ภาพโฟกัสมาที่จอตาพอดี ยังต้องคำนึงถึงกำลังการเพ่ง (accommodate) ซึ่งเป็นการทำงานของ ciliary body ตลอดจนการ convergence เป็นการทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตา (medial recti) ที่จะทำงานได้ดีในภาวะตาที่โฟกัสจอตาพอดี นั่นคือ การใส่แว่นสายตาสั้นตลอด ทำให้กำลังการเพ่งและการควบคุมกล้ามเนื้อกลอกตาน่าจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม หลายๆท่านแนะนำว่า ควรใส่แว่นตลอด แม้มองใกล้ด้วยตาเปล่าเห็นได้ดีก็ตาม แต่ก็อาจมีการละจากแว่นได้บ้าง หากต้องอ่านหนังสือนานๆ
  5. ควรจะเปลี่ยนแว่นบ่อยแค่ไหน ในคนสายตาสั้นทั่วๆไป มักจะมีการสั้นเพิ่ม ประมาณ 0.5 – 1.0 D ต่อปี จนอายุประมาณ 18 – 20 ปี การเพิ่มขนาดนี้ทำให้สายตามัวลงไป มองกระดานดำไม่ชัดระดับหนึ่ง จึงควรตรวจวัดสายตาปีละครั้ง หรืออาจอาศัยเด็กแจ้งว่ามองเริ่มไม่ชัด หรือผู้ปกครองสังเกตจากพฤติกรรมชอบหยีตา หรือเดินเข้าหาทีวี กระดานดำ เป็นต้น