สาระน่ารู้จากหมอตาตอน: ต้อหินควรปฏิบัติตนอย่างไร

สาระน่ารู้จากหมอตา

มี slogan จากองค์กร รณรงค์วันต้อหินโลก วันที่ 10 – 12 มีนาคม 2016 ที่ผ่านมาที่ว่า

“ The world is a wonder , to see every day so don’t let glaucoma , get in the way ”

“ ยังมีสิ่งมหัศจรรย์ในโลกนี้ที่น่าดู อย่าให้ต้อหินมาเป็นอุปสรรคเลย ”

เนื่องในสัปดาห์ต้อหินโลกปีนี้ วันที่ 6 -12 มีนาคม 2016 ที่กำลังจากไป หมอตาทั่วโลกจากหลายๆประเทศ ช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโรคต้อหินชนิดเรื้อรัง หรือมุมเปิดที่ค่อยๆทำลายตาเราจนบอดสนิทชนิดไม่มีทางแก้ไข บางท่านอาจจะใช้คำว่าทำให้ตาบอดผ่อนส่ง เพราะผู้เป็นโรคนี้ ตาจะค่อยๆ มัวลง หรือบอด อย่างช้าๆ โดยเฉพาะตาที่ค่อยๆมัวนั้น มัวจากด้านข้างก่อน กล่าวคือภาพตรงกลางจะถูกทำลายทีหลัง สายตาจะค่อยๆ มัว หรือมืดลง ด้านขอบๆ ก่อน จึงทำให้ผู้ป่วยไม่เฉลียวใจ เพราะมองตรงกลางคือเอาอะไรให้ดูก็ยังเห็นปกติ ไม่มีใครทดสอบการเห็นด้านข้าง อีกทั้งผู้เป็นโรคนี้ มักเป็นในผู้สูงอายุจึงมักเข้าใจว่า ตาพร่ามัวหรือเสื่อมตามวัยที่มักพูดกันว่า ตามัวลงตามอายุ

แม้ส่วนใหญ่ของต้อหินเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่รู้สาเหตุป้องกันไม่ได้ ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ก็จริง แต่การตรวจพบแต่ระยะแรกของโรค เราสามารถควบคุมมิให้โรคลุกลามหรือไม่ให้ตาเสื่อมหรือบอดได้ นั่นคือความจำเป็นของการตรวจคัดกรองโรคนี้ตั้งแต่เริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม แม้บางท่านจะโชคร้ายที่เป็นโรคนี้ก็ไม่จำเป็นต้องหมดอาลัย แต่จะต้องปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อให้โรคนี้ทำลายตาเราช้าลง หรือหยุดทำลายตาลงเร็วที่สุด

ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบว่าเป็นต้อหิน

  1. ทำความเข้าใจโรคต้อหินว่ามันค่อยๆ ทำลายตาเราโดยเกือบไม่รู้ตัวหรือไม่มีอาการอะไรที่เห็นชัดๆ แม้ว่าเจ้าตัวไม่รู้สึกมีความผิดปกติใดๆ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการทำลายประสาทตา
  2. ควรจะทราบหรือถามแพทย์ถึงระดับการสูญเสียที่เป็น โดยทั่วไปมักจะมีการสูญเสียบางส่วนไปแล้ว เช่น จำนวนเส้นประสาทตา (nerve fibre) ที่ขาดหายไป ลักษณะหรือเสียไปของลานสายตา (บางการตรวจอาจบอกได้ว่า ขณะตรวจลานสายตาเหลืออยู่เท่าไร หรือหายไปแล้วเท่าไร) หรืออาจจะบอกคร่าวๆ ว่า ขั้วประสาทตายังมีเส้นประสาทตาเหลืออยู่เท่าไร และที่จับต้องง่ายที่สุด คือ ความดันตาเป็นเท่าไร และจำเป็นต้องลดให้เหลือเท่าไร (target intraocular pressure) ดังเช่น ผู้ป่วยเบาหวานควรทราบระดับน้ำตาลในเลือดของตนว่ามันมากเกินค่าปกติไหมนั่นเอง หากทราบข้อมูลต่างๆ จะคาดถึงพยากรณ์ของโรคในภายภาคหน้า และสมควรรับการรักษาอย่างเคร่งครัดเพียงใด เช่น กรณีผู้ป่วยที่อายุไม่มากแต่มีการสูญเสียมากแล้ว ต้องเคร่งครัดกว่าผู้ป่วยสูงอายุที่มีการสูญเสียพอๆกัน เป็นต้น

  3. หากหมอลงความเห็นว่าจะใช้ยาหยอดตาเป็นการรักษา จึงควรที่หยอดยาตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่จำเป็นต้องหยอดมากกว่า การหยอดมากกว่าไม่มีประโยชน์อะไร หากมียา 2 ตัว ที่จำเป็นต้องหยอดเวลาเดียวกัน ควรทิ้งห่างกันประมาณ 10 นาที
  4. หากมีโรคประจำตัวอื่นอยู่ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน ซึ่งมียาต้องใช้ประจำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะยาหยอดตาบางตัวอาจมีฤทธิ์เสริมหรือหักล้างกับยารับประทาน
  5. ผู้ที่มีโรคหอบหืด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะยาหยอดรักษาต้อหินบางตัวกระตุ้นให้ภาวะหอบหืดกำเริบขึ้นได้
  6. ควรสอบถามแพทย์/เภสัชกรถึงผลข้างเคียงของยาหยอดตาบางตัวไว้ จะได้เตรียมตัวรับ เช่น แสบตา เคืองตาเวลาหยอดยาจะได้ไม่ตกใจ อีกทั้งหากมีอาการแทรกซ้อนที่ไม่ดี เช่น ตาแดงมาก เจ็บปวดเวลาหยอด ซึ่งหมอจะได้พิจารณาเปลี่ยนยาให้ตามความเหมาะสม หรือบางครั้งพึงระลึกว่า ยาหยอดรักษาต้อหิน มักจะมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น แสบตา เคืองตา ตาแดงบ้าง กาลเวลาจะทำให้อาการเหล่านั้นหายไปได้เอง อย่างไรก็ตามหากอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
  7. จำเป็นต้องรับการตรวจติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องกับแพทย์ผู้รักษาคนเดิม หากจำเป็นต้องเปลี่ยนหมอ/เปลี่ยนแพทย์ ควรนำรายละเอียดที่เคยรักษาพร้อมด้วยยาที่ใช้ประจำไปให้แพทย์ท่านใหม่ดูด้วย พึงระลึกว่าการทำตามแพทย์แนะนำ และรับการตรวจตาสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่จำเป็น