สาระน่ารู้จากหมอตา ตอนความดันตา( Intraocular pressure )

สาระน่ารู้จากหมอตา

ลูกตาคนเราเป็นรูปทรงกลม ภายในมีอวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือช่วยในการมองเห็น เช่น แก้วตา น้ำวุ้นตา จอตา ภายในลูกตามีส่วนที่เป็นน้ำ 2 ส่วน ส่วนที่อยู่ข้างหน้า คือ aqueous humor ส่วนที่อยู่ด้านหลังที่เป็นจำนวนมากกว่า คือ vitreous humor ทั้ง 2 ส่วนทำให้ลูกตามีแรงดัน ที่เรียกกันว่าความดันตาเกิดขึ้น ตัว vitreous humor อยู่กับที่ไม่มีการไหลเวียน ไม่มีการสร้างเพิ่มขึ้นจึงไม่มีส่วนทำให้ความดันตาเปลี่ยนแปลง ความดันตาคนเราที่มีสูง มีต่ำจึงขึ้นอยู่กับน้ำ aqueous เป็นหลัก โดยมีสาเหตุต่างๆ ได้แก่

1. อัตราการสร้างของ aqueous จาก ciliary body แม้ในคนปกติ การสร้างในแต่ละเวลาของวันไม่เท่ากัน (diurnal variation) เป็นเหตุให้ความดันตาในแต่ละเวลาของวันไม่เท่ากัน อีกทั้งจะสร้างได้น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้นสอดคล้องกับการไหลออกที่ยากขึ้นในคนสูงอายุ โดยทั่วไปไม่พบภาวะที่มีการสร้างมากขึ้น มีแต่น้อยลงในโรคบางโรค

2. การไหลออกจากตาของ aqueous เป็นไปได้ 2 ทาง คือ

2.1 trabecular meshwork ผ่านมาทางด้านหน้า เป็นทางหลัก (ประมาณ 80 %) ผู้ที่มีความดันตาสูงมักเกิดจากการไหลเวียนทางนี้ติดขัด ได้แก่ โรคต้อหินหลายชนิด

2.2 uveosclerol route ผ่านไปทางด้านหลัง สู่ suprachoroidal space (ประมาณ 20%)

3. แรงดันของหลอดเลือดรอบตาขาว (episclerol venous pressure) ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำ aqueous ไหลออกมาทาง trabecular route มาแลกเปลี่ยนกับเลือด หากความดันของหลอดเลือดบริเวณนี้สูง การแลกเปลี่ยน ของ aqueous กับเลือดทำได้ไม่ดี จึงทำให้แรงดันลูกตาสูงขึ้นได้

จากหลัก 3 ข้อ ข้างบนนำมาซึ่งการอธิบายสาเหตุของความดันตาที่สูงหรือต่ำ ตลอดจนกลไกการลดความดันตาของยาต้อหิน เช่น

  1. ความดันตาในบางภาวะลดต่ำลง เพราะการสร้าง aqueous ลดลง เช่น ภาภายในลูกตาอักเสบ (uveitis) เป็นการอักเสบของ ciliary body ซึ่งเป็นตัวสร้าง aqueous ทำงานน้อยลง ตลอดจนการใช้ยาที่ลดการสร้างของ aqueous เพื่อรักษาความดันตาที่สูง เมื่อการสร้างลดลง ความดันตาจึงต่ำลง
  2. การไหลออกทาง trabecular meshwork ติดขัดเป็นสาเหตุของต้อหินมุมเปิดที่สำคัญ การใช้ยารักษาต้อหินบางตัวมุ่งที่จะให้การไหลเวียนผ่านทางนี้คล่องตัวขึ้น หรือยาบางตัวเพิ่มการไหลออกทาง uveosclerol ได้ดีขึ้น
  3. อธิบายได้ถึงความดันตาที่สูงในผู้ป่วยบางคนที่มีเนื้องอกกดรอบตาทำให้หลอดเลือดรอบตาขาวมีแรงดันสูง

อย่างไรก็ตาม ในภาวะปกติ ความดันตาที่ปกติไม่เป็นตัวเลขหรือจำนวนที่แน่นอนเสมอไป มีแตกต่างกันบ้าง ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น

  1. มี circadian cycle หรือที่เรียกกันว่า diurnal variation ในแต่ละเวลาของวันไม่เท่ากัน ส่วนมากสูงตอนเช้า ต่ำสุดตอนเย็น ในคนปกติค่าแตกต่างนี้ไม่เกิน 3 – 6 มม.ปรอท
  2. ความหนาของกระจกตา ถ้ากระจกตาหนา จะวัดได้ความดันตาสูงกว่ากระจกตาบาง โดยเฉลี่ย 1-3 มม.ปรอท ต่อความหนา 40 ไมครอน ที่ต่างไปจาก 525 ไมครอน
  3. ความดันโลหิตที่สูง มักจะทำให้มีความดันตาสูงด้วย
  4. อายุ ผู้สูงอายุมักมีความดันตาโดยเฉลี่ยสูงกว่า
  5. การออกกำลังกาย เช่น การเล่นโยคะ ท่าห้อยศีรษะมักทำให้ความดันตาสูง
  6. การดื่มน้ำมากในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ความดันตาสูง และดื่มเหล้าทำให้ความดันตาลดลง