สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน ดวงตาบริจาคนำมาใช้ได้ทุกดวงหรือ?

สาระน่ารู้จากหมอตา

เมื่อได้รับดวงตาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตก่อนที่จะนำมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วย ต้องคำนึงถึงโรคของดวงตาบริจาคที่อาจนำไปสู่ผู้ป่วยด้วย

ศูนย์ดวงตาของสหรัฐอเมริกา (Eye Bank Association of American EBAA) ได้ให้กฎเกณฑ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคบางอย่างจากดวงตาบริจาคที่เป็นโรคที่สามารถส่งต่อมายังผู้รับ จึงไม่ควรใช้ดวงตาบริจาคจากผู้ที่

  1. เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ
  2. เสียชีวิตจากโรคทางสมองที่ไม่ทราบชัดว่า โรคอะไร ตลอดจนโรคทางสมองที่รู้สาเหตุด้วยโรค Creutzfeldt – Jakob , Progressive encephalopathy , โรคพิษสุนัขบ้า (บ้านเราเคยมีรายงานว่ากระจายเชื้อนี้สู่ผู้รับบริจาคมาแล้ว) เป็นต้น
  3. โลหิตเป็นพิษ (septicemia) ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา
  4. ประจักษ์ชัดจากอาการหรือทางห้องตรวจปฏิบัติการ (lab) ตลอดจนชาวบ้านทราบกันดีว่าผู้เสียชีวิตเป็นเอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ
  5. มะเร็งเม็ดเลือดขาว ตลอดจนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย
  6. มีภาวะ active endocarditis
  7. มีการอักเสบภายในดวงตา ได้แก่ ม่านตาอักเสบ, ตาขาวอักเสบ, retinitis, choroiditis, เป็นต้น
  8. เป็นมะเร็งภายในดวงตาได้แก่ retinoblastoma, adenocarcinoma , choridal melanoma
  9. มีความผิดปกติของกระจกตา เช่น keratoconus, Fuchsdystrophy , ต้อเนื้อที่เข้ามาถึงกลางตาดำ, เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มีกระจกตาที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว
  10. เคยรับการผ่าตัดกระจกตามาก่อน เช่น แก้ไขสายตาสั้น ด้วยวิธี Lasik , RK , PRK ตลอดจนการสอดเข้าเนื้อกระจกตา (lamellar inlay)
  11. เคยรับการผ่าตัดที่คาดว่าน่าจะมีการสูญเสียของเซลล์ endothelium เช่น หลังผ่าตัดต้อกระจก ต้อหิน เป็นต้น (อาจจะใช้วิธีตรวจนับจำนวน endothelium ของตาบริจาคต้องมากกว่า 2,000 ต่อตารางมม.)
  12. อย่างไรก็ตาม แพทย์ต้องมั่นใจว่าดวงตาบริจาค จะไม่นำโรคร้ายมาสู่ผู้ป่วย และน่าจะมีผลสำเร็จในการผ่าตัด