สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน ปากอ้าตาขยิบ (Marcus Gunn jaw winking)

สาระน่ารู้จากหมอตา

ในปี ค.ศ. 1883 หมอตาชื่อ Marcus Gunn เป็นผู้สังเกตพบเด็กหญิงอายุ 15 ปี ผู้หนึ่งมีการกระพริบตาและหนังตาเปิดกว้างขณะที่ขยับขากรรไกรหรือเวลากินอาหาร ลักษณะแปลกอันนี้จึงมีชื่อว่า Marcus Gunn Syndrome ซึ่งมักเป็นข้างเดียวเป็นแต่กำเนิด เป็นกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดแบบปมเด่น (autosomal inherit with incomplete penetrance) บ้างก็ว่า หญิงเป็นมากกว่าชาย บ้างก็ว่าพอๆ กันทั้ง 2 เพศ โดยเด็กมีหนังตาตกข้างหนึ่ง และข้างนั้นจะมีการขยับขึ้นแบบกระตุก (jerky elevation) เวลาเด็กดูดนม อ้าปาก ขยับขากรรไกร ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน ตลอดจนเวลากลืน ที่เห็นชัดคือ ภาวะหนังตาตกดีขึ้นเมื่ออ้าปาก และตามักจะโตขึ้นกว่าตาดี พบได้ร้อยละ 5 ของเด็กที่เกิดมาพร้อมหนังตาตก (congenital ptosis)

สาเหตุ เกิดจากการทำงานร่วมกันไป (synkinesis) ของเส้นประสาทส่วนที่ 3 ของเส้นที่ 5 (trigeminal nerve) ที่เลี้ยงกล้ามเนื้อ pterygoid บริเวณขากรรไกรไปทำงานร่วมกับเส้นประสาทที่ 3 (oculomotor) ที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อยกหนังตา (levator pulpabrae) ในด้านเดียวกัน พบได้ 2 ลักษณะ คือ

  1. external pterygoid – levator syndrome จะมีอาการยกหนังตาเมื่อขยับหรืออ้าปาก
  2. internal pterygoid – levator syndrome หนังตาจะยกขึ้นเมื่อเคี้ยวฟัน

มีผู้รายงานพบว่าเด็กที่เกิดมามีความผิดปกติลักษณะนี้ จะพบภาวะตาขี้เกียจ(anblyopia) ได้ถึง 54 %, สายตา 2 ข้างต่างกัน (anisometropia) 26 %, มีตาเขได้ 56 %

ภาวะนี้ มีผลในแง่บุคลิกภาพ การแก้ไขค่อนข้างยุ่งยาก มีผู้แนะนำให้ผ่าตัดกล้ามเนื้อที่ใช้ยกหนังตาออก แล้วใช้กล้ามเนื้อ frantalis muscle (กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผาก) มายกหนังตาแทน

ในกรณีเด็กแรกเกิด ถ้ามีภาวะหนังตาตกข้างหนึ่ง ควรสังเกตพฤติกรรมว่ามีภาวะนี้หรือไม่ เพื่อการแนะนำการดูแลรักษาที่ถูกต้องต่อไป