สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน น้ำตาจระเข้ (Crocodile tears)

สาระน่ารู้จากหมอตา

จระเข้เวลากินเหยื่อจะมีน้ำตาไหลออกมาซึ่งบ้างก็อธิบายว่าเป็นการเยาะเย้ยเหยื่อที่มันจับมาได้ บ้างก็ว่ามันแกล้งทำเป็นมึนให้สงสารและเห็นใจ เสียใจแทนเหยื่อ บ้างก็ว่าเมื่อจระเข้อยู่ในน้ำ ตามันเปียกจึงไม่มีน้ำตาไหล ถ้ากลางวันมันขึ้นบก ตาแห้งน้ำตาจะไหลเมื่ออยู่บนบกนานๆ และน้ำตาที่ไหลไม่เกี่ยวกับอารมณ์แต่อย่างใด บ้างก็ว่าเวลาจระเข้งับเหยื่อ กระดูกขากรรไกรไปบีบต่อมน้ำตาที่อยู่หลัง nictitating menbrance น้ำตาจึงไหลออกมา แม้แต่คำจำกัดความฝรั่งใช้คำว่าเป็น false insincere display of emotion คล้ายๆ จระเข้แกล้งทำเป็นสงสารเหยื่อที่ถูกกิน แต่มีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดในคนเราเรียกกันว่า “Bogarad syndrome” ซึ่งเป็น gustato lacrimal reflex โดยผู้ป่วยจะมีน้ำตาไหลข้างเดียวเวลากินอาหารหรือน้ำ พบและมีรายงานครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1913 มักเกิดภายหลัง “Bell’ s palsy” ซึ่งเป็นอัมพาตของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ข้างเดียว ที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด บ้างก็ว่าเป็นการอักเสบโดยมีอาการบวมของเส้นประสาทที่ 7 บริเวณโพรงกระดูกใต้หูที่บริเวณนี้เป็นช่องค่อนข้างแคบไปกดเส้นประสาท ภาวะ Bell’ s palsy คนส่วนมากอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้เองใน 2 สัปดาห์ บางรายอาจเป็นอยู่นาน 3 - 7 เดือน เมื่ออาการดีขึ้นมีประมาณร้อยละ 6 ของผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาจระเข้ขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็น misdirection ของการฟื้นคืนชีพของเส้นประสาทที่ 7 ส่วนการรับรู้รส (gustatory fibre ของ CN 7) กลับมุ่งไปยังเส้นประสาท greater superficial petrosal nerve ตรงไปยังต่อมน้ำตา (lacrimal gland) บ้างก็ว่าเส้นประสาทที่ค่อยๆ ฟื้นคืนชีพไป synapre กับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยง lacrimal gland เป็นเหตุให้เวลากินอาหาร น้ำตาจะไหล

ภาวะนี้อาจจะรบกวนผู้ป่วยในเรื่องบุคลิกภาพ เวลาทานอาหาร น้ำตาไหลแต่อาการมักจะค่อยๆหายไปได้เอง มีรายงานในต่างประเทศอาจรักษาโดยวิธีฉีด alcohol ทำลายเส้นประสาท บางรายใช้วิธีตัด lacrimal gland ทิ้งบางส่วน ตลอดจนมีการฉีด Botox เข้าต่อมน้ำตา เป็นต้น