สาระน่ารู้จากหมอตาตอน แผ่นวัดสายตา Snellen (Snellen chart)

สาระน่ารู้จากหมอตา

การวัดความสามารถของตาแต่ละคนที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ การวัดความคมชัดของการมองเห็นที่ฝรั่งเรียกกันว่า visual acuity ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเห็นหรือรับรู้ว่ามีภาพ จะต้องแยกแยะภาพที่เห็นจากภาพใกล้เคียง หากจะคิดอย่างง่ายๆ ว่าใครเห็นวัตถุหรือภาพที่ไกลกว่าได้ แสดงว่าน่าจะมีสายตาที่ดีกว่า เช่น เห็นเครื่องบินที่อยู่สูงมากกว่าได้ก็แสดงว่าสายตาดีกว่า หรือมองมด แมลงตัวเล็กๆ เห็นก็แสดงว่าสายตาดีกว่า การทดสอบแบบนี้ไม่เป็นรูปธรรมในทางการแพทย์ที่ใช้วัดความคมชัดของสายตาที่ใช้กัน คือ วัดด้วยการใช้แผ่นภาพวัดสายตาของ Snellen

แผ่นภาพ Snellen เริ่มมีใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1862 ซึ่งผลิตโดยจักษุแพทย์ชาวฮอลันดาชื่อ Herman Snellen (1834 – 1908) เป็นแผ่นภาพ (หรืออาจเป็น projector) ประกอบด้วยอักษร 8 – 11 แถว อักษรแต่ละตัวมีขนาด 5 x 5 หน่วย ความหนาของอักษรเป็น 1 หน่วย แถวบนสุดใน version แรกมีอักษรตัวเดียวขนาด 5 x 5 หน่วย ซึ่งใช้ตามมุมที่เกิดขึ้น 5 minute ที่จอตาของภาพที่เกิดขึ้น แถวที่ 2, 3, 4 ...... มีขนาดลดหลั่นกันลงมา แต่เดิมนิยมใช้อักษร C D E F L N O P T Z สลับกัน มาระยะหลังนิยมใช้อักษร C D E F H K N P R U V Z เพื่อให้มีความยากง่ายใกล้เคียงกัน

E chart เป็นแผ่นภาพทำขนาด 5 x 5 หน่วย ความหนาเป็น 1 หน่วย ใช้สำหรับคนอ่านหนังสือไม่มากหรือเด็ก โดยให้ผู้ถูกทดสอบบอกว่า E หัวตั้ง หัวกลับ ชี้ไปทางซ้าย ทางขวา เริ่มใช้โดย Hugh Tayler เรียกกันว่า Tumbling E

Landolt C เป็นแผ่นภาพตัว C ที่เป็นวงแหวนที่ไม่ครบวงรอบ ที่ขาดหายมีขนาด 1 หน่วย เป็นแผ่นภาพที่คิดโดยจักษุแพทย์ชาวสวิส Edmund Landolt แปลผลคล้ายๆ E chart ที่ว่ารอยขาดอยู่ทิศทางใด

ในปัจจุบัน อาจทำเป็นภาพใช้วัดสายตาเด็ก โดยใช้ภาพที่เป็นที่รู้จักของเด็ก เช่น เด็ก บ้าน รูปสัตว์ ขนาดต่างๆ การแปลผล ในแผ่นภาพต่างๆ จะมีตัวเลขกำกับไว้ด้านขวามือ เช่น แถวบนสุดกำกับไว้ว่า 6/60 (ระบบเมตตริก) หรือ 20/200 (ระบบอังกฤษ) แถวที่ 2 เป็น 6/36 หรือ 20/100 เรื่อยมาจนถึงแถวที่ 7 เป็น 6/6 หรือ 20/20

การทดสอบต้องทดสอบกับตาทีละข้าง โดยให้ตาขวาก่อนเสมอ ถ้าตาขวาอ่านได้ 2 แถว ซึ่งมีตัวเลขบ่งได้ว่า 6/36 หรือ 20/100 สามารถแปลผลได้ว่าภาพขนาดนั้นคนปกติสามารถอ่านได้หรือมองเห็นเมื่อยืนที่ 36 เมตร หรือ100 ฟุต ในขณะที่ผู้ป่วยต้องอ่านที่ 6 เมตรหรือ 20 ฟุต ซึ่งแสดงว่าสายตาผู้นั้นน้อยกว่าคนปกติมาก ถ้าอ่านด้วยตาขวามาถึงแถวที่ 7 ซึ่งระบุว่า 6/6 หรือ 20/20 แสดงว่าคนปกติอ่านได้ที่ระยะ 6 เมตร ผู้ถูกตรวจก็อ่านได้ที่ระยะ 6 เมตร เช่นกัน นั่นคือ มีสายตาปกตินั่นเอง

ปัจจุบันในการตรวจตาทั่วๆ ไป นิยมใช้แผ่นภาพ Snellen chart วัดว่าสายตาเท่าคนปกติหรือไม่ เทียบหลังการรักษากับก่อนการรักษาได้ดี แต่ในทางวิทยาศาสตร์การเทียบความแตกต่าง การหาค่าสถิติต่างๆ ทำได้ไม่ดีนัก ไม่แม่นยำ เนื่องจากแผ่นภาพ Snellen มีข้อเสียตรงที่

  1. ความยากง่ายของอักษรแต่ละแถวไม่สม่ำเสมอ บางแถวอาจมีตัวอักษรที่ง่ายมากกว่า บางแถวยากกว่า
  2. แต่ละแถวอักษรมีจำนวนไม่เท่ากัน
  3. ขนาดอักษรที่ลดหลั่นกันลงมาไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นแบบเรขาคณิต
  4. ช่องว่างระหว่างอักษรในแถวเดียวกัน และช่องว่างแถวไม่เท่ากัน
  5. ไม่สามารถให้คะแนนชัดเจน ไม่ได้เอาความสามารถที่อ่านเพิ่มได้อีก 1 หรือ 2 ตัวมาคำนวณ เช่น อ่านได้แถว 2 ถูกหมด แล้วอ่านแถว 3 ได้อีก 1 ตัว ซึ่งจะระบุไว้ว่าเป็น 6/36 +1 เวลานำตัวเลขมาคำนวณค่า +1 จะถูกตัดออกไป ทำให้ผู้อ่านได้ 3/36 และ 6/36 +1 หรือ 6/36 +2 มีค่าเท่ากันซึ่งไม่ถูกต้อง

ด้วยข้อไม่ดีดังกล่าว National Visual research institute ของออสเตรเลีย หันมาใช้ที่เรียกว่า Log MAR chart ที่คิดโดย Ian Bailey & Jan E Lovie – Kitchen ดังเช่นการศึกษาของ ETDRS study จะใช้ Log MAR chart ที่มีขนาดอักษรเท่ากันทุกบรรทัด ลดหลั่นกันแบบเรขาคณิต มีความยากง่ายพอๆ กัน ตลอดจนคิดค่า + ที่เพิ่มขึ้นเข้ามาด้วย