สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน สัปดาห์ต้อหินโลก

สาระน่ารู้จากหมอตา

ในปีนี้ สัปดาห์ต้อหินโลกตรงกับวันที่ 6 – 12 มีนาคม เนื่องจากต้อหินเรื้อรัง (พบมากสุดในต้อหินหลายชนิดที่มีอยู่) เป็นโรคซึ่งส่วนมากไม่มีอาการในระยะแรก โดยจะเริ่มจากสูญเสียสายตาส่วนขอบๆก่อน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่รู้ตัวว่าสายตาด้านข้างลดลง คือ มองเห็นภาพแคบลงๆ จนกระทั่งเหลือแต่บริเวณตรงกลาง หากไม่ได้รับการรักษาสายตา จะมืดลงและเสียบริเวณตรงกลางด้วย กลายเป็นคนตาบอดในที่สุด การทดสอบสายตาด้วยตนเองว่ามองวัตถุไกลยังเห็น ยังอ่านหนังสือหรือทำงานได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่มีต้อหินเสมอไป จึงต้องมีการตรวจคัดกรองโรคต้อหินในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้ตรวจพบตั้งแต่มีการสูญเสียลานสายตาด้านข้างเพียงเล็กน้อย

โดยสรุปโรคต้อหินควรจะมีการรณรงค์โดยการตรวจคัดกรอง เพื่อการพบตั้งแต่เริ่มแรกและรับการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะ

  1. มักจะไม่มีอาการอะไร ในระยะแรก อีกทั้งในระยะใกล้สุดท้ายแม้จะรู้สึกว่าด้านข้างมองไม่เห็น ผู้ป่วยอาจจะไม่เห็นความสำคัญ จึงไม่มารับการตรวจ ไปพบหมออีกที ตาบอดไม่มีทางแก้ไขแล้ว
  2. เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ จึงมักเข้าใจว่า ตนเอง สายตาเสื่อมลงตามอายุไม่ต้องรักษา
  3. อาจสับสนกับโรคต้อกระจกซึ่งพบได้บ่อยกว่า และเป็นเกือบทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น ผู้ป่วยจึงเข้าใจว่า คงเป็นต้อกระจกซึ่งรอได้ไม่จำเป็นต้องรักษาทันที
  4. เป็นโรคที่ทำลายเส้นประสาทตา (nerve fibre) อย่างช้าๆ เป็นการทำลายที่เสียแล้ว เสียเลย ไม่กลับคืน เมื่อเส้นประสาทตาถูกทำลาย ทำให้การมองเห็นลดลงไประดับหนึ่ง แล้วมารับการรักษาก็เพียงเพื่อมิให้เส้นประสาทตาที่เหลือถูกทำลายต่อไปอีก กล่าวคือเมื่อตรวจพบนั้น สายตาเหลือแค่ไหนก็อยู่แค่นั้น ไม่อาจกลับมาเหมือนเดิม
  5. เป็นโรคที่เรื้อรัง ต้องมารับการดูแล การตรวจอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้นตาจะมัวลงช้าๆได้
  6. การรักษาที่ส่วนมากจะเริ่มต้นด้วยการใช้ยาหยอดตา ซึ่งต้องใช้เป็นประจำเป็นปัญหาของผู้ป่วยที่สูงอายุ บางท่านที่ไม่สามารถหยอดยาเองได้ อีกทั้งยาที่รักษาอาจมีผลข้างเคียงของยา เช่น หยอดแล้วไม่สบายตา เจ็บ เคือง ตาแดง อันเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเลิกรับการรักษาไปเอง ฯลฯ

แต่นับว่ายังโชคดีที่อุบัติการณ์ของต้อหินเรื้อรังในคนไทยพบไม่มากนัก เชื่อกันว่าพบได้ประมาณ 1% ของประชากรสูงอายุ บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงสมควรมารับการตรวจคัดกรองได้แก่

  1. ผู้สูงอายุ ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  2. มีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว หรือผู้ที่มีปู่ย่า ตายาย ตาบอดตาใส พึงระลึกว่าท่านเหล่านั้นน่าจะเป็นต้อหิน
  3. ผู้มีสายตาสั้นมาก มีบางการศึกษาพบว่าผู้มีสายตาสั้นมากมีอุบัติการณ์ของต้อหินเรื้อรังมากกว่าคนสายตาปกติ
  4. ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน
  5. ผู้มีโรคทางกายที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เป็นต้น
  6. ผู้มีโรคทางกายที่ต้องใช้ยาประจำ ยาบางตัวทำให้มีผลข้างเคียงเป็นต้อหินได้

ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ในทุกข้อที่กล่าวมา ควรถือโอกาสมารับการตรวจคัดกรองโรคต้อหินจากจักษุแพทย์กันเถอะ