สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน : แผ่นภาพ Ishihara (Ishihara chart)

สาระน่ารู้จากหมอตา

แผ่นภาพ Ishihara (Ishihara chart) เป็นแผ่นภาพตรวจภาวะตาบอดสีของ Ishihara ซึ่งได้ชื่อมาจากนายแพทย์ Shinobu Ishihara จักษุแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่คิดแผ่นภาพสำหรับตรวจภาวะตาบอดสีขึ้นใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1917 เป็นแผ่นภาพที่ใช้ตรวจคัดกรองภาวะตาบอดสี (screening test) ออกจากคนที่เห็นสีปกติ กล่าวคือตรวจแยกผู้ที่บอดสีแดง เขียว ชนิดเป็นแต่กำเนิดออกจากคนปกติได้ดี แต่แยกระหว่างบอดสีแดงออกจากเขียว หรือบอกถึงความรุนแรงได้ไม่ดีนัก

เป็นที่ทราบกันว่า การใช้ภาพหรือวัตถุสีแดงให้ผู้บอดสีแดง แม้ที่จริงจะเห็นเป็นสีเทาแต่เขาจะบอกว่าสีแดงได้ถูกต้องหรือเอาวัตถุสีเขียวให้คนบอดสีเขียวก็จะบอกว่าสีเขียวได้ถูกต้อง เป็นเหตุให้ผู้ที่บอดสีดังกล่าวจึงมักไม่ยอมรับว่าตัวเองบอดสีที่เป็นดังนี้เพราะผู้บอดสีแดงนั้นแม้จะเห็นวัตถุสีแดงออกสีเทาแต่ถูกสอนตั้งแต่เด็กว่าสีที่เห็นนั้นเขาเรียกว่าสีแดง แล้วเราจะให้เขาบรรยายว่าสีที่เห็นหรือให้คำนิยามของสีแดงก็คงวินิจฉัยได้ยากว่าสีแดงที่เขาเห็นไม่เหมือนคนปกติทั่วไป กล่าวคือคนที่บอดสีแดง ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เห็นของที่เป็นสีแดงแต่เห็นเป็นสีอื่น เช่น สีเทาต่างจากคนปกติ

อาศัยหลักการเห็นสีต่างๆ ของคนเราโดยเอาสีที่เป็นหลัก 7 สี (สีรุ้งกินน้ำทั้ง 7) ได้แก่ แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน คราม ม่วง โดยเติมสีม่วงอมแดงเป็นตัวเชื่อม 2 ปลาย (แดงและม่วง) พบว่ามีแนวสีที่เรียกกันว่า neutral axis ซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน ถ้านำมารวมกันจะได้แสงสีขาว และแสงที่เป็น neutral axis กับจะเป็นสีที่เติมเต็ม (complementary) และเป็นสีที่จะเกิดการสับสน (confusion line) กล่าวคือสีแดงและน้ำเงินอมเขียว อยู่ใน neutral axis และสีเขียวจะมีสีม่วงอมแดงอยู่ในแนว neutral axis กันคนที่สับสนสีแดงจะสับสนสีน้ำเงินอมเขียวด้วยหรือคนที่สับสนสีเขียวจะสับสนสีม่วงแดงด้วย คือคนบอดสีแดง นอกจากจะเห็นสีแดงไม่เหมือนคนปกติยังเห็นสีน้ำเงินอมเขียวไม่เหมือนคนปกติด้วย ดังนั้นถ้าเราทำแผ่นภาพ เช่น ตัวเลขที่เกิดจากจุดประๆ เป็นสีแดงปนอยู่บนพื้นที่เป็นจุดประสีน้ำเงินอมเขียว ผู้บอดสีแดงจะมองไม่เห็นตัวเลข โดยจะเห็นตัวเลขมีโทนสีเดียวกับพื้นหรือปรุตัวเลขสีน้ำเงินอมเขียวบนพื้นสีเทา (คนบอดสีแดงจะเห็นสีแดงเป็นสีเทา) ผู้บอดสีแดงก็จะมองไม่เห็นตัวเลขเช่นกัน ในปัจจุบันมี chart ของ AO H-R-R ที่มีรูปเป็นทรงเรขาคณิตแทนตัวเลขตัดปัญหาผู้ที่อ่านตัวเลขไม่ออก ก็อาศัยหลักการเดียวกัน โดยสรุปอาศัยความรู้เรื่อง neutral axis สีที่เป็น complementary กัน ตลอดจน confusion line ทำให้สามารถสร้างแผ่นภาพสีต่างๆ เพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่มีการเห็นสีบกพร่องได้

แม้ว่าบาง version ของ Ishihara ใช้ saturation ที่ต่างๆ กันเพื่อแยกความรุนแรงของภาวะบอดสีและแยกสีแดงออกจากเขียว แต่ไม่แม่นยำมีโอกาสผิดพลาดสูง ส่วนใหญ่จึงใช้ Ishihara chart เพื่อแยกคนบอดสีแดงหรือสีเขียวออกจากคนปกติ กล่าวคือบอกได้เพียงว่าการเห็นสีปกติหรือผิดปกติแดงหรือเขียว จากนั้นนำผู้ที่ผิดปกติ (บอดแดงหรือเขียว) ไปตรวจด้วยวิธีอื่นเพื่อแยกว่า แดง หรือเขียวและแยกว่ามีความรุนแรงน้อย ปานกลาง หรือมาก (ถ้ามากมักจะมีข้อจำกัดในการเรียนหรือทำงานที่ต้องใช้การเห็นสีเป็นหลัก) การแปรผลสำหรับ Ishihara chart รุ่นที่มี 38 ภาพ ด้วยดูการอ่านตัวเลขว่าผิดจำนวนเท่าใด

  • ผิด 0 – 4 แผ่น ถือว่าปกติ
  • ผิด 5 - 7 แผ่น ควรตรวจด้วยเครื่องมืออื่นต่อไปเพื่อยืนยัน
  • ผิด 8 แผ่นขึ้นไป ถือว่าผิดปกติ

โดยแผ่นแรกของแผ่นภาพ Ishihara นั้น สร้างตัวเลขและพื้นให้มี brightness ของตัวเลขกับพื้นแตกต่างกันมากทั้งคนบอดสีและคนปกติต้องเห็นหมด ใช้ทดสอบคนที่แกล้งว่าบอดสี เป็นเบื้องต้น วิธีการตรวจควรตรวจในที่แสงธรรมชาติหรือแสง fluorescent ซึ่งจะรบกวนหรือเปลี่ยนสีน้อยที่สุดให้เวลาในการดูแผ่นภาพ 2 – 3 วินาทีต่อแผ่น ถ้าอ่านไม่ได้อาจให้แก้ตัวได้อีกครั้ง แล้วบันทึกจำรวนแผ่นภาพที่ผิดปกติหรืออ่านผิด