สาระน่ารู้จากหมอตาตอน ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นต้อกระจก ควรทำอย่างไรดี

สาระน่ารู้จากหมอตา

ภาวะเบาหวานทำให้แก้วตาขุ่นมัว การหักเหของแสงของแก้วตาเปลี่ยนไปเกิดภาวะสายตาสั้น ตลอดจนลดความสามารถของการเพ่ง (accommodative amplitude) โดยสรุปพบความผิดปกติของแก้วตาในผู้ป่วยเบาหวาน ดังนี้

  1. ระดับน้ำตาลในเลือดสูงนำมาซึ่ง aqueous humor (น้ำในลูกตา) มีน้ำตาลสูงขึ้นด้วย น้ำตาลในaqueous จะกระจาย (diffuse) เข้าสู่แก้วตา ทำให้ระดับน้ำตาลในแก้วตาเพิ่มขึ้น น้ำตาลในแก้วตาถูกย่อยด้วย enzyme aldose reductase กลายเป็นสาร Sorbital ขังอยู่ในแก้วตา ทำให้แก้วตาขุ่นมัว จึงพบต้อกระจกในผู้ป่วยเบาหวานได้ในอายุที่น้อยกว่าคนปกติ อีกทั้งต้อกระจกจะลุกลามเร็วกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน
  2. เมื่อน้ำตาลในแก้วตาสูง ทำให้น้ำซึมเข้าไปในแก้วตา เป็นเหตุให้แก้วตาบวม ดัชนีการหักเหของแสงเปลี่ยนไป เกิดภาวะสายตาสั้น ผู้ป่วยเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดสูงที่ควบคุมไม่ได้ บางคนอาจมาพบหมอด้วยสายตาสั้นฉับพลันได้ และเมื่อน้ำตาลลดลง สายตากลับมาเหมือนเดิม
  3. แก้วตาในผู้ป่วยเบาหวานอาจจะยืดหยุ่นไม่ดีเมื่อมองใกล้เป็นเหตุให้เกิดภาวะสายตาผู้สูงอายุได้เร็วกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นต้อกระจกขึ้นแล้ว คงต้องลงเอยรักษาด้วยวิธีผ่าตัดลอกต้อกระจกร่วมกับฝังแก้วตาเทียม เมื่อถึงเวลาสมควร เช่นเดียวกับต้อกระจกในผู้สูงอายุ มีผู้ป่วยหลายรายเข้าใจว่า ถ้าเป็นเบาหวานแล้วผ่าตัดต้อกระจกไม่ได้เป็นการเข้าใจที่ผิด บางรายหลังผ่าตัดมีสายตาดีขึ้นมาก เช่นเดียวกับผู้ป่วยทั่วไป แต่คงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษด้วยเหตุที่

  1. เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ทำให้ขบวนการหายของแผลผ่าตัด ไม่ดี หรือช้ากว่าคนปกติ
  2. มีโอกาสติดเชื้อระหว่างและหลังผ่าตัดง่ายตามสถิติของผู้ป่วยลอกต้อกระจกพบการติดเชื้อในผู้ที่เป็นเบาหวานได้มากกว่าคนทั่วไป
  3. ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ทำให้อาจมีปัญหาจากภาวะดังกล่าว
  4. ม่านตาผู้ป่วยเบาหวานมักจะขยายไม่ค่อยออก ทำให้การผ่าตัดสลายต้อยุ่งยากขึ้น
  5. มีหลายรายงานบ่งว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานทำลายจอตา (diabetic retinopathy) หากรักษาก่อนด้วยแสงเลเซอร์ได้ควรทำก่อน เพราะหลังลอกต้อกระจกมักมีภาวะเบาหวานทำลายจอตาเลวลง

อนึ่ง ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นต้อกระจก เมื่อถึงเวลาสมควรรับการผ่าตัดแล้ว ควรจะ

  1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี
  2. หากมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต ควรต้องควบคุมให้ดี
  3. ตรวจและรับการรักษาหากมีภาวะเบาหวานเข้าจอตาก่อนรับการผ่าตัด
  4. แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาที่ใช้ประจำ ซึ่งบางตัวอาจจะควรงดชั่วคราว
  5. ใช้ยาดูแลรักษาความสะอาดหลังผ่าตัดตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  6. ไปรับการตรวจแผลตามแพทย์นัดหมาย
  7. หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตา ตาแดง ตามัวลง ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  8. ควรจะตระหนักว่าในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะเบาหวานทำลายจอตาอยู่แล้ว หรือกำเริบหลังผ่าตัด อาจทำให้หลังผ่าตัด สายตาดีขึ้นไม่มากนักและจำเป็นต้องรับการรักษาเพิ่มเติมได้