สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ภัยของผู้ใช้คอนแทคเลนส์จากเชื้อปรสิต

สาระน่ารู้จากหมอตา

ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ ควรต้องระวังโรคที่เกิดจากปรสิตตัวหนึ่งที่กระจกตา แม้ปรสิตตัวนี้อาจเกิดในคนปกติที่ไม่ได้ใช้คอนแทคเลนส์ก็ได้ แต่พบเป็นส่วนน้อยกว่ามาก เชื้อปรสิตที่กล่าวถึงนี้คือ เชื้ออะมีบา (Acanthamoeba) นั่นเอง เชื้อตัวนี้ก่อให้เกิดโรคทางตาและระบบอื่น เช่น ทางสมองได้ ตัวเชื้ออยู่ได้ 2 รูปแบบ คือ เป็นตัวเป็นๆ (trophogoite) และเป็นซีสต์ (cyst) โดยระยะที่เป็นตัวเป็นๆ มันสามารถเคลื่อนที่ได้แม้อยู่ในเนื้อเยื่อบางชนิดและจะกลายมาเป็น cyst เมื่อปรสิตมีอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม ขาดออกซิเจนหรือถูกสารเคมี หากอยู่ในรูปของ cyst จะอยู่ทนมาก ยากที่จะถูกทำลายเมื่ออยู่ในร่างกายคนและอยู่ในรูปของ cyst จึงยากที่จะรักษา

ในความเป็นจริง คือปรสิตตัวนี้พบได้ทั่วไปในน้ำ ในดิน น้ำเกลือ น้ำที่ผ่านคลอรีนที่สำคัญ พบได้ในคอนแทคเลนส์ ในน้ำยาที่ใช้ในคอนแทคเลนส์ ตลอดจนในตลับที่ใส่คอนแทคเลนส์

เชื้อตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่เกิดการอักเสบของกระจกตาในผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ โดยมีการพบโรคนี้ในผู้ใช้คอนแทคเลนส์โดย Jone และคณะครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1974 จากนั้นก็มีรายงานพบภาวะนี้มากขึ้นเรื่อยมา เนื่องจากหมอเริ่มรู้จักเชื้อนี้มากขึ้น และพบผู้ป่วยส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการใช้คอนแทคเลนส์ที่มากขึ้น

การติดเชื้อตัวนี้ที่กระจกตาในผู้ใช้คอนแทคเลนส์ เกิดได้ในผู้ใช้คอนแทคเลนส์ทุกชนิด ทั้งแข็งและนิ่ม ทั้งชนิดใส่วันเดียว ใส่รายสัปดาห์ รายเดือนหรือรายปี เชื่อว่าการติดเชื้อมีปัจจัยเสี่ยงในผู้ใช้คอนแทคเลนส์ เนื่องจาก

  1. ผิวกระจกตามีรอยถลอกจากคอนแทคเลนส์ มีสารอะไรติดอยู่ (contact lens deposit)
  2. ใช้คอนแทคฯนาน
  3. ดูแลรักษา จับต้องคอนแทคฯไม่ถูกต้อง เช่น ใช้น้ำประปา ใช้น้ำเกลือทำเองหรือเทจากขวดใหญ่ บางรายใช้น้ำลายแตะคอนแทคก่อนใส่ ไม่ทำความสะอาดตลับใส่เลนส์ ไม่ทำความสะอาดตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ใช้เลนส์ที่หมดอายุ เป็นต้น

ทั้งนี้คาดกันว่า เมื่อเชื้อตัวนี้เข้าไปเกาะที่ผิวกระจกตาเข้าไปเจริญในเซลล์ผิว (epithelium) และเซลล์ในเนื้อกระจกตา (keratocyte) มันจะสร้างเอนไซม์ย่อยและสลายกระจกตา ตามด้วยการอักเสบกระจายไปทั่วจนทำให้กระจกตาทะลุได้ อาการแสดงของกระจกตาอักเสบจากเชื้อตัวนี้คล้ายที่เกิดจากเชื้อตัวอื่นๆ แต่มักจะมีอาการปวดตามากกว่าเพราะเชื่อว่า เชื้อมักจะกระจายรอบๆ เส้นประสาท (corneal nerve) ทำให้การอักเสบกระจายไปขอบๆ เป็นเส้นรัศมีที่หมอเรียกกันว่า radial keratoneuritis ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมาก โดยสรุปกระจกตาอักเสบจากปรสิตตัวนี้ แม้จะมีลักษณะคล้ายการอักเสบของกระจกตาจากเชื้ออื่น แต่มีข้อที่เด่น คือ

  1. ประวัติการใช้คอนแทคเลนส์และดูแลคอนแทคเลนส์ไม่ถูกต้อง
  2. มีอาการปวดตามาก มากกว่าขนาดและลักษณะของแผล
  3. แผลมีลักษณะกระจายเป็นรัศมีไปถึงขอบกระจกตา
  4. มีผู้สังเกตว่าแผลอาจมีลักษณะเป็นวงแหวนที่เรียก ring infiltrate

การวินิจฉัยและรักษา

  1. ค่อนข้างยุ่งยาก ส่วนใหญ่อาศัยประวัติอาการ ลักษณะของแผล การตรวจหาเชื้อที่เป็นต้นเหตุ หากพบว่าไม่พบเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ให้สงสัยว่าอาจเป็นเชื้อตัวนี้ไว้ก่อน
  2. การตรวจหาเชื้อจากแผลยุ่งยาก ต้องใช้วิธีย้อมเชื้อด้วยสีพิเศษ
  3. แม้แต่การเพาะเชื้อ ต้องใช้ agar สำหรับเพาะเชื้อพิเศษ มิเช่นนั้นเพาะเชื้อไม่ขึ้น (แม้ว่าจะมีเชื้ออยู่)
  4. ในปัจจุบัน แม้จะมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีพิเศษ คือ immunoflurescent ที่ตรวจได้เร็วและแน่นอน การตรวจก็ยุ่งยาก ราคาแพง ทำได้เฉพาะบางแห่งเท่านั้น
  5. การรักษาค่อนข้างยาก เพราะตัวเชื้อสามารถเปลี่ยนรูปจากตัวเป็นๆ มากลายเป็น cyst ที่ทนต่อการรักษายิ่งขึ้น
  6. ตัวเชื้อสามารถแอบซ่อนอยู่ในเนื้อเยื่อ บางครั้งการรักษาดูเหมือนดีขึ้นแล้ว กลับเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา
  7. ยาที่ใช้รักษามีอยู่ 4 กลุ่ม

    a. Diamidine

    b. Imidazole

    c. Cationic antiseptic

    d. Aminoglycoside

แม้จะมียาหลายกลุ่มแต่ผลไม่แน่นอน ยังหาวิธีที่เหมาะสมไม่ได้ คงต้องใช้เวลาติดตามผลในระยะยาว เพื่อมีการเสนอแนะวิธีการที่ดีต่อไป

โดยสรุป โรคนี้วินิจฉัยยาก รักษายากใช้เวลานาน ทรมานผู้ป่วยมากจึงควรป้องกันไม่ให้เกิดจะดีกว่าโดย

  1. ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ควรตระหนักถึงโรคนี้ และให้การดูแลและวิธีใช้คอนแทคฯที่ถูกต้อง
  2. ไม่ใช้น้ำประปา น้ำเกลือทำเอง น้ำลายทำความสะอาดเลนส์
  3. ไม่ควรใส่คอนแทคฯ เวลาว่ายน้ำ หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคฯ ระหว่างกิจกรรมที่อาจเสี่ยงต่อน้ำกระเด็นเข้าตา
  4. ปรึกษาผู้ประกอบคอนแทคฯถึงวิธีการฆ่าเชื้อในคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสม การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบางชนิดอาจไม่ครอบคลุมปรสิตตัวนี้