สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน ความเข้าใจผิดในเรื่องตาขี้เกียจ

สาระน่ารู้จากหมอตา

ผู้ป่วยรายแรก คุณแม่วัย ประมาณ 40 ปี พาลูกสาวอายุ 5 ปี มาปรึกษาเรื่องสายตาสั้นที่ไปวัดมาแล้วว่ามีสายตาสั้นข้างขวา 75 ข้างซ้าย 100 เนื่องจากลูกสาวยังไม่ยอมใส่แว่นที่ตัดมา คุณแม่ได้รับการบอกเล่าว่าสายตา 2 ข้างไม่เท่ากัน ถ้าไม่ใส่แว่นจะเกิดภาวะสายตาขี้เกียจ จึงมาปรึกษาว่าควรบังคับให้ใส่แว่นหรือไม่ โอกาสของการเกิดภาวะตาขี้เกียจมีหรือไม่

ผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นคุณลุงอายุ 60 ปี สังเกตพบว่าตาขวามัวลงมาในระยะเวลา 2 ปี ไปตรวจตาแล้วได้รับการวินิจฉัยว่า ตาขวาเป็นต้อกระจก ทำให้ตามัวลงเป็น 20/100 ส่วนตาซ้ายเป็นปกติ คือเห็น 20/20 คุณลุงยังใช้สายตาในชีวิตประจำวันได้ตามปกติดี แต่ลูกสาวพาคุณพ่อมาปรึกษากลัวว่า ตาขวาของพ่อจะเกิดตาขี้เกียจ ด้วยเหตุที่เคยทราบจากเพื่อนที่มีลูกสาววัย 1 ขวบ เป็นต้อกระจกในตาข้างเดียวและลูกเพื่อนจำเป็นต้องรับการผ่าตัดเพื่อป้องกันภาวะตาขี้เกียจตั้งแต่อายุเพียง 1 ปี

ผู้ป่วยรายที่ 3 เป็นคุณธิดา อายุ 45 ปี เป็นแม่บ้าน มารับการตรวจตาพบว่ามีสายตาสั้น 400 ในตาทั้ง 2 ข้าง เมื่อทดสอบสายตาเวลาใช้แว่น พบว่ามองเห็นชัดทั้ง 2 ข้าง ไม่เคยใส่แว่นมาก่อน ทำแต่งานบ้าน อ่านหนังสือบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังอ่านได้ดี ไม่อยากใส่แว่น แต่เกิดความกังวลว่าจะเกิดตาขี้เกียจหรือไม่ เพราะไม่ชอบใส่แว่นเลย ในชีวิตประจำวันไม่เดือดร้อน แต่เข้าใจว่าถ้าไม่ใส่แว่นจะเกิดภาวะตาขี้เกียจ ทำให้ตามืดลงและบอดได้ในภายหลัง

ผู้ป่วยทั้ง 3 รายไม่เกิดภาวะตาขี้เกียจแน่นอน โดยที่รายที่ 1 แม้อายุ 5 ปี ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตาขี้เกียจ และมีสายตาที่ต่างกันทั้ง 2 ข้างก็จริง แต่ต่างกันเพียงเล็กน้อย อีกทั้งสายตาสั้นน้อยมาก โอกาสเกิดภาวะตาขี้เกียจจึงไม่มี โดยทั่วไป หากสายตาสั้น 2 ข้างต้องต่างกันมาก เช่น มากกว่า 300 ขึ้นไป หรือสายตาสั้นมากทั้ง 2 ข้าง เช่นมากกว่า 900 ขึ้นไป อีกทั้งภาวะสายตาสั้นมักจะไม่เกิดภาวะตาขี้เกียจ เพราะสายตาสั้นนั้นมองใกล้ได้ดี แต่เด็กวัยนี้ถ้ามีสายตายาวหรือเอียงที่ต่างกันแม้เพียง 100 – 200 ก็อาจเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ เช่น ตาข้างหนึ่งปกติ ตาอีกข้างยาว 200 ก็ควรระวังเรื่องตาขี้เกียจไว้ด้วย

สำหรับรายที่ 2 ภาวะตาขี้เกียจเกิดเฉพาะในเด็กเท่านั้น เนื่องจากการพัฒนาการมองเห็นยังไม่ดีเต็มที่ในวัยเด็ก หากมีอะไรมาบังการมอง เช่น ต้อกระจกในวัย 2 ขวบ ทำให้จอตาไม่มีการพัฒนาจึงควรขจัดสิ่งกีดขวาง คือ ต้อกระจกออกไป ส่วนผู้ใหญ่ถ้ามีการพัฒนาการมองเห็นดีแล้ว แม้จะมีต้อกระจกมาบังก็ไม่ทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ เพราะจอตาได้พัฒนามาแล้ว สามารถรอให้ต้อกระจกแก่พอสมควรค่อยรับการผ่าตัดไม่ต้องรีบร้อนทำเช่นในเด็ก

สำหรับคุณธิดา มีสายตาสั้นปานกลางทั้ง 2 ตา การมองเห็นในระยะไม่ไกลนักยังทำได้ดี ระยะใกล้เห็นได้ดี ทั้ง 2 ตา ทำงานได้ไม่ต่างกันจึงไม่เกิดภาวะตาขี้เกียจ แต่ถ้าคุณธิดามีสายตาสั้น 1,000 ทั้ง 2 ข้าง อาจเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ ซึ่งต้องเป็นตั้งแต่วัยเด็กแล้ว คุณธิดาจึงไม่ต้องกังวล หากไม่ได้ใช้สายตามองไกลมาก ไม่ชอบและไม่เคยใส่แว่น ยอมรับว่ามองไกลไม่ชัด จะไม่ใส่แว่นก็ได้