สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน แก้วตาเทียมหลายโฟกัส (Multifocal)

สาระน่ารู้จากหมอตา

คุณยายอายุ 70 ปี ตามัวทั้ง 2 ข้าง ด้วยโรคต้อกระจก กำลังจะไปรับการผ่าตัดลอกต้อกระจกร่วมกับฝังแก้วตาเทียม เห็นมีญาติบอกว่าแก้วตาเทียมมีทั้งแบบโฟกัสเดียวและหลายโฟกัส แล้วจะให้คุณยายใช้แก้วตาเทียมแบบไหนดี

ต้อกระจกที่พบมาก เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของแก้วตาตามอายุ ยิ่งอายุมากมีโอกาสเป็นต้อกระจกมาก การรักษาที่ถูกต้อง คือการเอาต้อออก ตามด้วยฝังแก้วตาเทียม เป็นวิธีที่ทำกันมานาน แก้วตาเทียมสมัยก่อนเป็นชนิดมีโฟกัสเดียว จึงเสมือนแว่นสายตาระยะเดียว ซึ่งมักจะเน้นสายตาไกลจึงเห็นชัดในระยะไกล เมื่อไม่มีแก้วตาหรือแม้ยังมีแต่แก้วตาคนสูงอายุจะเสื่อมไม่สามารถโฟกัสภาพระยะใกล้ได้ จึงทำให้หลังผ่าตัดจำเป็นต้องใช้แว่นช่วยเวลาดูใกล้หรือดูหนังสือ เพื่อตอบสนองต่อผู้ฝังแก้วตาเทียมให้มองได้ทั้งไกลและใกล้ เรียกว่าไม่ต้องพึ่งแว่นอีกต่อไป หรือถ้าจะพึ่งบ้างก็เล็กน้อย จึงมีแก้วตาเทียมออกใหม่เป็นเลนส์ชนิดโฟกัสได้ทั้งไกลและใกล้ ผู้สูงอายุที่ใช้แก้วตาเทียมชนิดนี้จึงสะดวกสบายมองได้ชัดทั้งไกลและใกล้ ถ้าเช่นนั้นควรจะเปลี่ยนเป็นฝังแก้วตาเทียมชนิดนี้ทั้งหมดเลยไม่ดีกว่าหรือ ในความเป็นจริงแก้วตาเทียมชนิดนี้มีข้อเสียอยู่บ้าง คือ

  1. ราคาแพงกว่า
  2. การวัดกำลังแก้วตาเทียมควรจะแม่นยำ หากคลาดเคลื่อนเล็กน้อยมีผลต่อการมองเห็นมากกว่า
  3. การฝังแก้วตาเทียมจำเป็นต้องฝังอยู่ตรงกลางในที่ที่ควรอย่างแม่นยำ หากคลาดเคลื่อนไปแม้เพียง 0.5 มม. สายตาจะผิดเพี้ยนไป จึงต้องมีการผ่าตัดที่แน่นอน เช่น การฉีกถุงหุ้มแก้วตาควรจะขนาดเหมาะสม ตรงกลางไม่บิดเบี้ยว อีกทั้งผู้ป่วยนั้นต้องมีเส้นโยงยึดแก้วตา (lens gonule) ที่แข็งแรง
  4. ต้องยอมรับว่าผู้ที่ฝังแก้วตาเทียมชนิดนี้ด้วยหลักการหักเหของแสงจากแก้วตาเทียมชนิดนี้ทำให้เห็นแสงจ้า (glare) เห็นแสงเป็นรุ้ง (halo) โดยเฉพาะในระยะแรกๆ หลังผ่าตัดได้มากกว่าแก้วตาเทียมโฟกัสเดียว แต่โดยทั่วไปอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
  5. ความคมชัดของภาพอาจไม่ดีเท่าแก้วตาเทียม โฟกัสเดียว เสมือนหนึ่งว่าแสงที่เข้าตาต้องแบ่งไปให้บริเวณที่โฟกัสไกลและโฟกัสใกล้พร้อมๆ กัน จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคมชัดของภาพมากในอาชีพบางอาชีพหรือบุคคลที่ยังต้องใช้สายตามาก
  6. ด้วยลักษณะของแก้วตาเทียมชนิดนี้ ทำให้การมองเห็นในที่สลัวไม่ดี หรือเรียกกันว่า contrast sensitivity ไม่ดีเมื่อเทียบกับแก้วตาโฟกัสเดียว การขับรถกลางคืนอาจไม่ดีเท่าที่ควร
  7. แก้วตาเทียมบางชนิด การมองเห็นอาจแปรตามขนาดของรูม่านตา ผู้ที่มีรูม่านตาขนาดใหญ่อาจทำให้สายตาไม่ดีเท่าที่ควร

โดยสรุป แก้วตาเทียมชนิดนี้ อาจไม่เหมาะสำหรับบางคน เช่น

  1. ผู้ที่ต้องการความคมชัดในการทำงาน ต้องยอมรับว่า แก้วตาหลายโฟกัสเห็นทั้งไกลและใกล้ แต่ไม่คมชัดนัก
  2. ผู้ต้องขับรถมากในเวลากลางคืน
  3. ผู้ที่มีบุคลิกบางอย่าง คาดหวังมาก หวังว่าสายตาจะเห็นชัดเท่ากันหมดทุกระยะ
  4. ไม่ยอมรับว่า บางครั้งอาจต้องใช้แว่นตาช่วยบ้าง เช่น ต้องอ่านหนังสือตัวเล็กเป็นเวลานาน หรืออาจต้องมีการผ่าตัดอีกครั้ง หากสายตายังไม่เป็นที่พอใจ
  5. มีโรคตาอื่นที่ทำให้การมองเห็นไม่ดีอยู่แล้ว เช่น กระจกตาเป็นแผล ต้อหิน จอตาเสื่อม เป็นต้น
  6. ผู้ที่เดิมมีสายตาสั้นเล็กน้อย มักจะปรับตัวเข้ากับแก้วตาเทียมชนิดนี้ยากกว่าผู้ที่มีสายตายาวเล็กน้อยก่อนเป็นต้อกระจก
  7. ผู้มีสายตาเอียงอยู่เดิม ไม่เหมาะที่จะใช้นอกจากเลือกชนิดแก้วตาเทียมที่แก้สายตาเอียงด้วย