สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน ดวงตาบอกโรคทางสมอง

สาระน่ารู้จากหมอตา

เด็กชายอายุ 10 ปี มารดาพามาพบหมอตาเนื่องจากเด็กบ่นว่า มองกระดานที่โรงเรียน ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง มีอาการปวดศีรษะบ้างเล็กๆ น้อยๆ ไปวัดแว่นที่ร้านแว่นตาพบว่ามีสายตาสั้นเล็กน้อย ประมาณ 50 ทั้ง 2 ข้าง ได้แว่นมาใช้แล้ว 1 เดือน อาการดูเหมือนไม่ทุเลา โดยทั่วไปเด็กยังแข็งแรงการเรียนปกติดี นอกจากบ่นว่าตาพร่ามัวบางครั้ง มารดาได้โอกาสลองพามาตรวจตาดู การตรวจตาพบว่ามีสายตาสั้นเล็กน้อยเท่านั้นไม่จำเป็นต้องใช้แว่นสายตา การมองเห็นได้มาตรฐานเท่ากับเด็กปกติ ตรวจกระจกตา แก้วตา ทุกอย่างปกติ เมื่อตรวจบริเวณขั้วประสาทตาซึ่งส่องตรวจผ่านทางรูม่านตาเข้าไปพบว่า ขั้วประสาทตาบวมทั้ง 2 ข้าง (papilledema) จึงแนะนำผู้ป่วยไปรับการตรวจจากแพทย์ทางระบบประสาทดูว่า สมองมีอะไรผิดปกติหรือไม่ มารดาพาไปตรวจ X-ray computer และไปพบแพทย์ทางระบบประสาท จากนั้นไม่ได้รับการติดต่อจากผู้ป่วยอีกเลย จน 4 เดือนต่อมามารดาแจ้งว่าไปรักษาด้วยวิธีผ่าตัดก้อนเนื้อในสมองและพาเด็กมารับการตรวจตาตามปกติพร้อมกับขอบคุณที่แนะนำและไปรับการรักษาได้ทันเวลา เรียกว่างานนี้หมอตาเป็น hero ชั่วคราว

ดวงตาคนเราติดต่อกับสมองโดยตรง หรืออาจพูดว่าดวงตายื่นออกมาจากสมองตรงบริเวณที่เรียกกันว่า ขั้วประสาทตา จากขั้วประสาทตาเป็นศูนย์รวมของเส้นใยประสาทตาจากจอตา รวมกันเป็นเส้นประสาทตา ยื่นไปในเนื้อสมอง ไปยังสมองส่วนท้ายทอยที่เรียกกันว่า occipital lobe ที่เป็นศูนย์รวมรับรู้การเห็น เนื้อสมองเรามีน้ำหล่อเลี้ยงที่เรียกว่า cerebrospinal fluid (CSF) เมื่อเกิดความผิดปกติในเนื้อสมอง เช่น มีก้อนเนื้องอกในผู้ป่วย........ ทำให้แรงดันของ CSF สูงขึ้น เป็นเหตุให้ขั้วประสาทตาถูกดันด้วยแรงดันที่สูงกว่าปกติ จึงบวม ทำให้แพทย์มองเห็นโดยตรวจมองผ่านรูม่านตาไปได้ ระยะแรกที่แรงดัน CSF สูง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แต่บางรายอาการมีน้อยมาก เนื่องจากแรงดัน CSF ค่อยๆ ขึ้นช้าๆ เมื่อขั้วประสาทตาบวมระยะแรกจะไม่รบกวนการมองเห็น คือ เส้นใยประสาทตายังคงทำงานได้ ต่อเมื่อปล่อยให้บวมอยู่นาน ใยประสาทตาจึงจะทำงานบกพร่อง ทำให้สายตามัวในภายหลังได้

นอกจากนี้การตรวจตาบางอย่าง เช่น การทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตา รูม่านตา ลานสายตา อาจใช้ชี้ว่าพยาธิสภาพอยู่ที่บริเวณใดของเนื้อสมองได้

ดวงตาจึงไม่ใช่หน้าต่างของหัวใจอย่างเดียว แต่เป็นประตูไปถึงสมองด้วย