สาระน่ารู้จากหมอตาตอน: สายตาสั้น (Emmetropization)

สาระน่ารู้จากหมอตา

แม้ว่าเราจะรู้กันมานานแล้วที่ว่า สายตาสั้นเกิดจากกำลังการหักเหของแสงของกระจกตาและแก้วตาไม่ได้สมดุลย์กับความยาวลูกตา และในปัจจุบันมีวิธีแก้ไขทั้งชั่วคราวด้วยแว่นตาและคอนแทคเลนส์ตลอดจนสามารถแก้ไขให้หายสั้นแบบถาวรด้วยวิธีผ่าตัดและแสงเลเซอร์ แต่ก็ยังไม่สามารถฟันธงลงไปเลยว่าสายตาสั้นเกิดจากอะไร ไม่สามารถที่จะทำการทดลองให้เกิดสายตาสั้นในแง่จริยธรรมทางการวิจัย แต่ก็มีการศึกษาข้างเคียงแล้วประมวลเอาว่าน่าจะเป็นเหตุเป็นผลเป็นสาเหตุ เป็นสิ่งจูงใจให้เกิดหรือชะลอภาวะสายตาสั้นได้

  1. เริ่มจากการศึกษาถึงภาวะสายตาสั้นว่าพบในประชากรในแถบใดของโลกมากกว่ากัน โดยพบว่ากลุ่มประชากรซีกโลกตะวันออก โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน พบสายตาสั้นในประชากรถึงร้อยละ 70 แต่ชาวมองโกเลียและเนปาลซึ่งอยู่ขึ้นไปทางเหนือพบเพียง 1-6 % ในขณะที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ประมาณร้อยละ 35 ทางยุโรปพบเพียง 17% สหรัฐอเมริกาพบได้ 25% จึงพอสรุปว่าเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภูมิประเทศน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง
  2. การศึกษาถึงความชุกของภาวะสายตาสั้นเปรียบเทียบกันในแต่ละช่วงเวลา เช่น การศึกษาปี ค.ศ. 1970 เทียบกับปี ค.ศ. 1990 ในสิงคโปร์ในชุมชนหนึ่งพบความชุกจากร้อยละ 26 มาเป็นร้อยละ 83 นั่นคือ ใน 20 ปี ที่ผ่านมามีสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นน่าจะสอดคล้องกับประชากรมีการศึกษาสูงมากขึ้น ใช้สายตามากขึ้น ทำงานใกล้ (near – work) มากขึ้น สอดคล้องกับข้อสังเกตที่ว่ากลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ต้องอ่านหนังสือมากโดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์เทียบกับนักศึกษาพยาบาลในวัยเดียวกันจะมีความชุกของสายตาสั้นต่างกัน (มีการศึกษายืนยันที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) บางการศึกษาพบว่า คนสายตาสั้นมักจะมี IQ สูงกว่าคนทั่วไป โดยสรุปปัจจัยนี้สนับสนุนว่าคนที่ใช้สายตาใกล้มาก อ่านหนังสือมาก ในยุคหลังที่มีการใช้ IT ดูคอมฯ เล่นเน็ท ใช้มือถือมาก ล้วนเป็นการใช้สายตาใกล้มากขึ้นน่าจะเป็นปัจจัยเสริมอันหนึ่ง
  3. มีการศึกษาในสิงคโปร์โดยคุณหมอ Law และ คณะสรุปว่าถ้าเด็กมีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งสายตาสั้น เด็กมีโอกาสสายตาสั้นร้อยละ 20 แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาสายตาสั้นทั้งคู่ จะมีโอกาสร้อยละ 40 ในขณะที่เด็กที่พ่อแม่ สายตาปกติมีโอกาสสั้นเพียงร้อยละ 10 สรุปว่าพันธุ์กรรมน่าจะมีส่วน
  4. มีข้อสังเกตกันมานานว่าเด็กในชนบทมีสายตาสั้นน้อยกว่าเด็กในเมือง เพราะเด็กในชนบทใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้งมากกว่าเด็กในเมืองที่อาศัยอยู่ในตึก ในคอนโดซึ่งเป็นที่แคบๆ เข้ากับผลการศึกษาหลายอันที่ใช้คำว่า outdoor activity คือมีกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้นทำให้มีโอกาสตาสั้นน้อยกว่า ระยะหลังมีการศึกษาจากประเทศจีนและสิงคโปร์มีความเห็นไปด้วยกันว่า การมี outdoor activity มากขึ้น (มากกว่า 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ป้องกันสายตาสั้นได้

สำหรับกลไกของการเกิดสายตาสั้นได้มีการศึกษาและทดลองไว้โดย Young และ Gwiagda อธิบายว่าเป็นเพราะกลไกของการเกิด emmetropization ของตาคนเรา ซึ่งแรกเกิดจะเป็นสายตายาวแล้วกระบวนการนี้พยายามปรับให้สายตามาเป็นปกติในเด็กอายุ 4-10 ปี โดยอธิบายว่ามียีนส์ที่จอตา ชั้น RPE ของจอตา ตลอดจนชั้น choroid และตาขาว (sclera) ที่พยายามให้เกิดกระบวนการ emmetropization เมื่อตามองวัตถุใกล้ภาพจะไปโฟกัสที่หลังลูกตา (เรียกกันว่าเป็น hyperopic defocus) กระบวนการ emmetropization จึงพยายามยึดตาขาวให้ถอยออกไปให้ตรงจุดโฟกัส นั่นคือ ทำให้ลูกตายาวออกไป (เป็นลักษณะของสายตาสั้น) เมื่อลูกตายาวกว่าปกติ เวลามองไกลภาพจึงโฟกัสอยู่หน้าจอตาเป็นภาวะสายตาสั้นไปในเด็กเล็ก ถ้ามองใกล้มากๆ กระบวนการนี้จึงก่อให้เกิดสายตาสั้น หรืออาจอธิบายว่าเกิดความบกพร่องของการเพ่งหรือเพิ่มกำลังของแก้วตา (accommodation lag) เมื่อมองวัตถุใกล้และการเพ่งของเด็กเป็นได้โดยปกติเพิ่มกำลังแก้วตาได้ ดวงตาก็ไม่จำเป็นต้องยืดออกไป โดยสรุปของอันนี้ก็คือ ไม่ควรใช้สายตามองใกล้นานๆ ในเด็กที่กระบวนการ emmetropization มีอยู่ (อายุ 4-10 ปี)

อย่างไรก็ตามก็มีเด็กที่ใช้สายตามองใกล้มากๆ แต่ไม่มีสายตาสั้น จึงสรุปได้ว่าการเกิดสายตาสั้นคงมีปัจจัยหลายอย่าง การใช้สายตามองใกล้นานๆ ควรสลับด้วยการมี outdoor activity น่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง