สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ประเมินสายตาเด็กเล็กได้อย่างไร

สาระน่ารู้จากหมอตา

เด็กแรกเกิดที่ท้องครบกำหนดและคลอดปกติ ลักษณะทางกายภาพของตาอาจจะมองดูปกติ มีส่วนต่างๆภายในลูกตาปกติ แต่การมองเห็นจะยังไม่สมบูรณ์นัก กล่าวคือจอตาซึ่งบุอยู่ภายในลูกตายังพัฒนาไม่เต็มที่ เด็กแรกเกิดจึงมีการมองเห็นอยู่ในขั้นเลือนรางทันทีที่เด็กลืมตา มีแสงสว่างเข้าตาไปกระทบจอตา การพัฒนาการมองเห็นจะเริ่มขึ้นและดำเนินไปเรื่อยๆ จนเท่ากับผู้ใหญ่เมื่ออายุ 4 ปี โดยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในอายุ 3-12เดือน และมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จนอายุ 4 ปี

การมองเห็นเป็นความรู้สึก เป็นผลจากอวัยวะสัมผัส คือ ลูกตาต่อวัตถุตรงหน้าและแปลภาพเป็นวัตถุนั้นๆ ด้วยสมองส่วนรับรู้การเห็น โดยทั่วไปเราสามารถวัดความสามารถทางการมองเห็นโดยใช้แผ่นภาพมาตรฐาน (Snellen chart) ที่ระยะที่กำหนดภายใต้แสงสว่างที่เหมาะสม แผ่นภาพประกอบด้วยภาพหรืออักษรที่มีขนาดลดหลั่นกัน ทำให้เราแปลผลออกมาเป็นระดับสายตาได้ โดยเทียบกับค่ามาตรฐานของคนปกติ แต่เด็กก่อนวัยเรียนคงจะสื่อบอกเราไม่ได้ วิธีทดสอบสายตาจึงต้องอาศัยพฤติกรรมของเด็กเป็นหลักตลอดจนกายภาพของลูกตาช่วย

มีข้อสังเกตต่างๆ ที่ช่วยผู้ปกครองทดสอบการมองเห็นในเด็กเล็กดังนี้

  1. ประวัติโรคที่เป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัว สุขภาพของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ ระยะเวลาคลอด โรคแทรกซ้อนที่มีระหว่างคลอด ช่วยประเมินความผิดปกติทางตาที่อาจเกิดในทารกได้
  2. เด็กแรกเกิด ผู้ปกครองควรสังเกตกายวิภาคของลูกตาว่ามีขนาดปกติ เช่น เด็กทั่วไปหือไม่ ตาดำใสเช่นเด็กทั่วไปหรือไม่ ลูกตา 2 ข้างมีขนาดเท่ากันหรือไม่ ข้างหนึ่งปกติ อีกข้างหนึ่งเล็กหรือใหญ่กว่าปกติ ขนาดของลูกตาทั้งดวงอาจจะสังเกตยากให้ดูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของตาดำ ในเด็กแรกเกิดควรมีขนาด 9.5 – 10.5 มม. ถ้าขนาดใหญ่กว่าอาจเป็นต้อหินชนิดเป็นแต่กำเนิด หรือถ้าขนาดเล็กอาจร่วมกับลูกตาเล็กที่เรียกว่า micronthalmos ที่มักจะมีสายตาผิดปกติ
  3. เวลาเด็กลืมตา หนังตาบนควรปิดตาดำไม่ถึงกึ่งกลางตาดำ (ปิดตาดำลงมาเพียง 1 – 2 มม.) หากปิดลงมาก เป็นภาวะหนังตาตกซึ่งมีผลต่อการพัฒนาการมองเห็น
  4. มีลูกตากระตุก (nystagmus) หรือไม่ การมีลูกตากระตุกบ่งถึงอาจมีพยาธิสภาพในสมองหรือมีที่ลูกตา
  5. เด็กอายุ 0 – 1 เดือน สังเกตจากความสนใจรอบข้างของเด็ก ปฏิกิริยาของเด็กเมื่อมีของผ่าน วัยนี้แม้เด็กตาจะเลื่อนลอยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมในบางรายก็เป็นได้
  6. เด็กควรจะจ้องหน้าแม่หรือพี่เลี้ยงได้ในอายุ 2 เดือน เด็กวัยนี้จะมองหน้าแม่และยิ้มเวลาให้นม หรือกระพริบตาเมื่อมีวัตถุผ่านตา
  7. อายุ 4 เดือน ควรมองตามวัตถุได้
  8. เมื่อเด็กอายุราว 6 เดือน ควรสังเกตระบบที่เรียกกันว่า CSM (central , steady , maintain) หมายถึงตาต้องจ้องวัตถุ ลูกตาอยู่ตรงกลาง ตาจ้องจับวัตถุนิ่งได้
  9. อายุ 1 – 3 ปี หากเด็กเริ่มเดินได้ อาจจะทดลองกลิ้งวัตถุให้เคลื่อนไหว เด็กควรจะมองตาม หรือเดินไปเก็บของเล่นได้
  10. เด็กอายุ 3 ปี เริ่มพูดได้อาจจะวัดสายตาแบบผู้ใหญ่ได้โดยใช้แผ่นภาพเป็นรูปสัตว์ หรือที่เรียกกันว่า E game อย่างไรก็ตาม เด็กวัยนี้ ควรรับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ เพื่อวัดสายตาว่ามีสายตาสั้น ยาว เอียง หรือไม่ ขณะเดียวกันดูว่ามีตาเขหรือไม่ หากมีสายตาที่ผิดปกติมากโดยเฉพาะสายตายาว หรือเอียง หรือสายตา 2 ข้าง ที่แตกต่างกันมาก มักทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ (amblyopia) ในตาข้างที่ผิดปกติมาก โดยเด็กจะเลือกใช้ตาข้างที่ดี ไม่ใช่ตาข้างที่ไม่ดี หรือในกรณีที่เด็กมีภาวะตาเข มักจะนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจได้เช่นกันในรายที่เป็นตาเขข้างใดข้างหนึ่ง หรือแม้แต่กรณีที่ตาผลัดกันเขก็ทำให้การมองเห็นคุณภาพลดลง ภาวะตาขี้เกียจในกลุ่มนี้หากรีบแก้ไขสาเหตุให้การรักษาที่เหมาะสมจะรักษาให้หายเป็นปกติได้ หากปล่อยทิ้งไว้จนโตภาวะตาขี้เกียจจะไม่กลับคืนไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด