สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ตาเด็ก

สาระน่ารู้จากหมอตา

ตาเด็ก ไม่ใช่ตาของผู้ใหญ่ที่ตัวเล็กดังภาษาอังกฤษที่ว่า “ infant eye is not a simple small adult eye” ด้วยเหตุที่ตาเด็กมีความแตกต่างจากตาผู้ใหญ่หลายประการ อาทิ เช่น

  1. ขนาดของลูกตาเด็กโตขึ้นและเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ขณะที่ลูกตาผู้ใหญ่คงที่ไม่มีการโต ทั้งขนาดความยาวของลูกตาจาก 17 มม ในแรกเกิดเป็น 24 มม เมื่อโตเต็มที่ ตาผู้ใหญ่มีขนาด 24 มม ตลอดไป กระจกตามีความโค้งมากในแรกเกิดมีค่า 52 D อายุมากขึ้นความโค้งลดลงจนมีขนาดเท่าผู้ใหญ่คือโค้ง 42 – 44 D เมื่ออายุ 12 ปี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกระจกตาจาก 9.5 มม มาเป็น 12 มม
  2. สายตาของเด็กเปลี่ยนไป เด็กแรกเกิดจะมีสายตายาวและยาวมากขึ้นจนอายุ 7 ปี จากนั้นจะปรับลดลงจนมาเป็นสายตาปกติหรือสายตาสั้น หากผู้ที่ปรับมาเป็นสายตาสั้นจะสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคงที่ที่อายุประมาณ 18 ปี (มีบางรายที่ยังสั้นเพิ่มขึ้นหลังอายุ 18 ปี มักจะเป็นผู้ที่มีสายตาสั้นมาก)
  3. สายตาเด็กเล็กจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ คาดว่าเด็กแรกเกิดมีสายตาเป็น 20/400 แล้วค่อยๆ มากขึ้นจนเป็น 20/20 ในคนที่ตาปกติ การเห็นสามมิติ คาดว่าจะเกิดเมื่ออายุ 6 เดือน
  4. กำลังเพ่ง (accommodation) ในเด็กมีมาก แต่ในผู้ใหญ่จะลดลงเมื่ออายุ 40 ปี เกิดภาวะสายตาผู้สูงอายุ
  5. ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในเด็ก ยังไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสติดเชื้อบางชนิดได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่และแสดงอาการแปลกไปจากผู้ใหญ่
  6. การพัฒนาของลูกตามักจะไปด้วยกันกับสมอง หากการพัฒนาทางประสาทสมองผิดปกติ อาจนำไปสู่ภาวะผิดปกติทางตาได้
  7. อาจมีโรคตาที่เป็นแต่กำเนิด เช่น ต้อหินแต่กำเนิด ต้อกระจกแต่กำเนิด ซึ่งการวินิจฉัยตลอดจนการรักษายุ่งยากกว่าผู้ใหญ่ บางภาวะที่ผิดปกติ เช่น ต้อกระจกอาจพบร่วมกับโรคทางกาย เช่น Lowe syndrome , Down syndrome galactosemia เป็นต้น อีกทั้งอาจมีโรคบางอย่างที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
  8. อาจมีการติดเชื้อโรคบางอย่างตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ติดเชื้อจากแม่ผ่านทารก เช่น โรคเอดส์ โรคหัดเยอรมัน โรคเริม โรคจาก Cytomegalovirus ตลอดจน Toxoplasmosis เป็นต้น
  9. มีโรคหรือความผิดปกติบางอันเกิดขึ้นเฉพาะในเด็ก เวลาตรวจตาเด็กจึงต้องนึกถึงไว้เสมอ เช่น
    • ภาวะจอตาเสื่อมจากออกซิเจนในเด็กแรกเกิดก่อนกำหนด (retinopatly of prematurity)
    • ภาวะ accommodative esotropia เป็นภาวะตาเขจากการที่มีการเพ่งมากกว่าปกติ
    • ภาวะตาขี้เกียจ (amblyopia) เกิดจากตาไม่ได้ใช้ตั้งแต่เด็กจนเกิดภาวะไม่ใช้สายตาข้างนั้นแต่ภาวะตาขี้เกียจนี้จะไม่เกิดในผู้ใหญ่ที่การพัฒนาเต็มที่แล้ว เคยมองเห็นดีแล้ว มาถูกกั้นไม่ให้เห็นในภายหลัง จะไม่ก่อให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ
    • ตาเขที่ไม่ทราบสาเหตุชนิดที่ไม่ใช่จากกล้ามเนื้อตาอัมพาต พบมากในเด็กแต่ถ้าไม่ได้แก้ไขอาจจะเขอยู่อย่างนั้นจนเป็นผู้ใหญ่
    • มะเร็งจอตา (retinoblastoma) เกิดเฉพาะในเด็กเล็ก
    • บางสภาวะพบในเด็กไม่ต้องแก้ไข ในผู้ใหญ่อาจต้องแก้ไข เช่น เด็กอายุ 4 ปี มีสายตายาว 200 ไม่ต้องแก้ไข แต่ผู้ใหญ่สายตายาว 200 ต้องแก้ไข เป็นต้น