สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: การเขย่าเด็ก (Shaken baby syndrome)

สาระน่ารู้จากหมอตา

การเขย่าเด็ก (Shaken baby syndrome) เป็นการกระทำของผู้ใหญ่ต่อเด็กที่ไม่สมควรอันหนึ่งที่เรียกกันว่า child abuse โดยการจับเด็กเขย่าอย่างแรง การกระทำของผู้ใหญ่ต่อเด็กที่ไม่ดีอาจจะเป็นลักษณะหรือก่อให้เกิดผล

  1. ผลเสียต่อร่างกายเด็ก (physical) เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะต่างๆ
  2. ผลเสียต่อจิตใจเด็ก (mental) เด็กผวาหวาดกลัว สุขภาพจิตไม่ปกติ
  3. เป็นการกระทำที่ผิดจากการคุกคามทางเพศ (sexual)
  4. อาจรวมทั้งเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเหลียวแล ทำให้เป็นเด็กก้าวร้าว บางคนอาจจะแปลว่า การทารุณต่อเด็ก

ภาวะ child abuse นี้ คงจะพบได้ทั่วไปทั้งตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจของผู้ใหญ่ที่กระทำต่อเด็ก โดยเกิดจาก พ่อ – แม่ ญาติของเด็ก โดยเฉพาะพ่อ – แม่ ที่ยังอยู่ในวัยไม่สมควรมีลูก ไม่มีความอดทนพอในการเลี้ยงเด็ก หรือจากพี่เลี้ยงเด็กที่กระทำต่อเด็กที่เราพบเห็นในข่าวหนังสือพิมพ์อยู่เรื่อยๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่าจะพบเด็กที่เป็นเหยื่อราวปีละ 2 ล้านคน (บ้านเราไม่มีสถิติตัวเลขนี้ที่ชัดเจน)

การวินิจฉัยภาวะนี้คงไม่ได้จากประวัติการถูกกระทำ เพราะผู้ปกครองที่พามาให้ตรวจมักจะไม่บอกความจริง อย่างไรก็ตาม ควรจะสงสัยภาวะนี้ได้จากประวัติที่ได้จากญาติหลายคนที่ต่างกัน ประวัติบางอย่างที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ให้ประวัติว่าตกเตียงเอาศีรษะลงพื้น แต่มีรอยฟกช้ำดำเขียวหลายแห่ง หรือเด็กเล็กมากยังคลานไม่ได้แต่ให้ประวัติว่าคลานแล้วตกลงมา หรือเด็ก 2 เดือนยังพลิกตัวไม่ได้ให้ประวัติว่าพลิกตัวตกลงมา เป็นต้น

การกระทำต่อเด็กที่ไม่สมควรนี้พบมีอาการทางตาได้ ประมาณร้อยละ 5 ความผิดปกติทางตาที่พบได้ เช่น เบ้าตาเขียวช้ำ เลือดออกใต้เยื่อบุตา เลือดออกในช่องหน้าตา ต้อกระจก แก้วตาเคลื่อนที่ ตลอดจนจอตาฉีกขาดและหลุดลอกก็พบได้

วิธีการที่ทำต่อเด็กที่พบบ่อยในภาวะนี้ ได้แก่ การเขย่าเด็ก เกิดภาวะที่เรียกกันว่า shaken baby syndrome นี้มีรายงานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ในกลุ่มของ child abuse พบในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี พบมากในเด็กอายุ 3 – 8 เดือน แต่ก็มีรายงานที่พบในเด็กอายุ 4 ปี ได้ มักจะเกิดจากเด็กที่ร้องไห้ ทำให้พ่อแม่ พี่เลี้ยงเกิดความรำคาญเขย่าตัวเด็กอย่างแรงเพื่อให้หยุดร้อง ความผิดปกติที่พบได้ที่สำคัญคือ มีเลือดออกในสมอง (subdural hematoma อาจร่วมกับ subarachnoid bleeding) เป็นผลจากเนื้อสมองกระแทกกับกะโหลกศีรษะ ในเด็กเล็ก น้ำในสมองมากเนื้อสมองมีการเคลื่อนไหวและกระตุกอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อสมองได้รับอันตราย ตลอดจนมีการฉีกขาดของหลอดเลือดสมองจากที่หลอดเลือดยังไม่แข็งแรง เป็นเหตุให้มีเลือดออกในสมอง กดเนื้อสมองตามมา ในบางรายทำให้เด็กมีอาการทางสมองรุนแรงจนเสียชีวิตได้

การเขย่าเด็กอย่างรุนแรงอาจพบความผิดปกติที่สำคัญทางตา คือ มีเลือดออกในจอตา (retinal haemorrhage) ซึ่งอาจอยู่ที่ผิวหรือส่วนลึกใต้จอตาทั้ง preretinal , deep และ subretinal haemorrhage ซึ่งอาจจะอยู่รอบๆ macula หรือกระจายไปทั่วจอตาหรือบางรายอาจพบเป็นเลือดออกเต็มน้ำวุ้นตา (vitreous haemorrhage ) ซึ่งส่วนมากเกิดจากเลือดที่ออกที่จอตาไหลเข้า Vitreous ทำให้น้ำวุ้นขุ่นไปหมดในไม่กี่วัน สำหรับเลือดที่ออกที่จอตาอาจจะค่อยๆ หายไปใน 1 – 2 สัปดาห์ หรือบางรายหลายเดือน

ในบางรายที่เป็นรุนแรงเนื้อจอตาเกิดการแยกตัว เกิดภาวะที่เรียกว่า traumatic retinoschisis ที่พบบ่อยเกิดเป็น perimacular fold เป็นแอ่งรอบวงที่บริเวณ macula ซึ่งเป็นลักษณะค่อนข้างเฉพาะที่มักเกิดในภาวะนี้

ลักษณะที่แปลกใน shaken baby syndrome มักจะพบว่าภายนอกของลูกตา เช่น กระจกตา เบ้าตา ดูปกติดี

โดยสรุปถ้าตรวจพบทางตาเป็น retinal haemorrhage ที่กว้างขวางมากร่วมกับ perimacular fold รวมทั้ง retinoschisis ร่วมกับมีเลือดออกในสมองในเด็กเล็ก ควร นึกถึงภาวะ shaken baby syndrome ไว้ การตรวจตาอย่างละเอียดโดยตรวจที่จอตาอาจจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยภาวะ child abuse ได้