สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: การเห็นภาพซ้อน (Diplopia)

สาระน่ารู้จากหมอตา

การเห็นภาพซ้อน (Diplopia) เป็นอาการที่สำคัญอาการหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ บางคนอาจจะมึนงงจนทำอะไรไม่ได้เพราะสับสนไปหมด ต้องพยายามมองด้วยตาข้างเดียว คือ ปิดตาข้างหนึ่ง การเกิดภาพซ้อนอาจเป็นตาเดียวหรือ 2 ตากล่าวคือมองด้วยตาเดียวเห็นภาพซ้อน (monocular diplopia) หรือเมื่อมองด้วยตา 2 ข้างพร้อมกันถึงเห็นภาพซ้อน (Binocular diplopia) การเห็นภาพซ้อนอาจเกิดจากโรคทางตาโดยตรง หรือโรคทางสมองซึ่งมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตา วิธีแยกระหว่าง monocular จาก binocular diplopia ทำได้โดยปิดตาเสียข้าง ถ้ายังมีภาพซ้อนอยู่แสดงว่าเป็น monocular diplopia ถ้าปิดตาข้างหนึ่งอาการภาพซ้อนหายไปแสดงว่าเป็น binocular diplopia

ก. ภาวะ Monocular diplopia ผู้ป่วยส่วนมากมาด้วยมองภาพไม่ชัด ปรับโฟกัสไม่ได้ บางคนจึงแปลว่าเป็นภาพซ้อนๆกันหลายภาพ ส่วนมากสาเหตุเกิดจาก

  1. สายตาผิดปกติ ได้แก่ สายตาสั้น ยาว หรือเอียง โดยไม่ได้แก้ไข โดยเฉพาะสายตาเอียงมากๆ แนวการหักเหของแสงแนวนอนและแนวตั้งไม่ตรงกันหรืออีกนัยหนึ่งความโค้งของกระจกตาแตกต่างกันในแนวที่ต่างกัน จึงเห็นภาพซ้อน
  2. ผิวกระจกตาขรุขระ (corneal irregularity) ไม่เรียบอาจเกิดจากแผลอักเสบแผลเป็นของกระจกตา กระจกตาบวม ทำให้แสงที่ตกกระทบผิวตาบริเวณที่ไม่เรียบแตกไปทิศทางต่างๆ ภาพจึงโฟกัสที่จุดต่างๆ แม้แต่บางคนผิวกระจกตาแห้งทำให้ผิวไม่เรียบก็อาจก่อให้เกิดเห็นภาพซ้อนได้
  3. ภาวะกระจกตาย้วย (keratoconus) กระจกตาโค้งมากและแตกต่างกันในแนวต่างๆ มักทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพซ้อน
  4. ต้อกระจกระยะแรกๆ มีความขุ่นไม่สม่ำเสมอ แสงหักเหเมื่อผ่านแก้วตาจึงไม่สม่ำเสมอ อนึ่ง ภาวะ 1 ถึง 4 ตรวจได้ง่ายๆ โดยให้ผู้ป่วยมองผ่านรูเล็กๆ (pin hole) อาการเห็นภาพซ้อนจะหายไป
  5. มีพยาธิสภาพบริเวณ macula/จุดภาพ อาจจะบวมน้ำ มีเลือดออก หรือมีผังพืดที่ macula ทำให้เห็นภาพบิดเบี้ยวซึ่งผู้ป่วยอาจจะแปลว่าเป็นภาพซ้อน ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก และมักมาด้วยภาพบิดเบี้ยวมากกว่าภาพซ้อน

ข. ภาวะ Binocular diplopia เห็นภาพซ้อนเมื่อลืมตา 2 ข้าง ส่วนมากเกิดจากมี ตาเข หรือตาไม่สามัคคีกัน มีการอัมพฤกษ์หรืออัมพาตของกล้ามเนื้อกลอกตาบางมัด ซึ่งอาจเกิดจากโรคทางตา หรือโรคทางสมอง หากเป็นโรคทางสมองจำเป็นต้องรับการตรวจสมองด้วย x-ray computer (CT) หรือ MRI เพื่อหาจุดที่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพต่อไป อย่างไรก็ตามมีอาการบางอย่างที่แยกการเห็นภาพของระหว่างโรคทางสมองออกจากโรคทางตา ได้แก่

  1. เวลาที่เกิดตาเข อาจจะเพิ่งเป็นแบบฉับพลันหรือเป็นมานาน หรือเป็นมานานแล้วแต่มากขึ้นในระยะหลัง ถ้าเป็นแบบฉับพลันบ่งว่าน่าจะเป็นโรคทางสมอง ยกเว้นที่เพิ่งเป็นหลังการผ่าตัดตา หรือมีอุบัติเหตุ สำหรับอาการที่เป็นมานานและคงที่มักจะไม่ใช่โรคทางสมอง
  2. อาการเห็นภาพซ้อน ถ้าเป็นอย่างฉับพลันมักจะเป็นโรคทางสมอง หรือภาวะ myasthenia gravis โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น
  3. การเห็นภาพ 3 มิติ (Stereoacuity) ช่วยบอกว่าตาเขเริ่มตั้งแต่เมื่อใด กล่าวคือ ถ้ามีการเห็น 3 มิติ หมายถึงมีตาตรงมาก่อนแสดงว่าตาเขเพิ่งเป็น ควรจะตรวจตอนมีตาเขน้อยที่สุด หรือตรวจโดยใช้ prism แก้ไขตาเข หากตรวจพบมีการเห็นภาพ 3 มิติ แสดงว่าอาการเป็นอย่างฉับพลัน ต้องรับการตรวจหาระบบประสาท/สมอง ถ้าไม่มีการเห็นภาพ 3 มิติ แสดงว่าน่าจะมีอาการนานแล้ว จะเป็นปัญหาทางตา
  4. มุมเขที่พบเท่าเดิมตลอด ไม่ว่าจะวัดในท่าใด เช่น ท่ามองตรง มองขึ้น มองขวาหรือซ้าย มุมเขเท่าเดิม แสดงว่าน่าจะเป็นปัญหาทางตา ไม่ใช่ทางสมอง
  5. มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการปวดศีรษะ ตากระตุก (acquired nystagmus) ตามัว หนังตาตก ฯลฯ บ่งว่าน่าจะมีความผิดปกติทางสมอง

สรุป:

ภาวะ monocular diplopia มักจะมีปัญหาเกิดจากโรคตาโดยตรง ส่วน binocular diplopia อาจจะเกิดจากมีปัญหาทางตา หรือด้านสมองก็ได้