สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ภาพลวงตา (Visual illusion)

สาระน่ารู้จากหมอตา

Illusion อาจจะแปลว่าลวงหรือไม่จริง เป็นการตีความผิดไปจากความเป็นจริง คือมีสิ่งเร้า (stimulus) อยู่อย่างหนึ่ง แต่สมองแปลสิ่งเร้านั้นเป็นอีกอย่างต่างจากเดิม อาจจะเป็น optical หรือ visual illusion คือ เห็นภาพอย่างหนึ่งแปลเป็นอีกอย่าง หรือ auditory illusion เป็นการแปลผิดของเสียง เสียงอย่างหนึ่งสมองแปลว่าเป็นอีกอย่าง หรือ tactile illusion เป็นการแปลผิดของการสัมผัส เป็นต้น ที่เห็นชัดๆ ได้แก่ visual illusion ที่พูดกันเป็นรูปธรรมได้ อาจไม่ใช่เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกร่วมกับประสบการณ์ของผู้นั้น

คำอีกคำที่คล้ายกัน คือ hallucination อาจจะแปลว่าหลอน เป็นภาวะที่ไม่มีสิ่งเร้า แต่เจ้าตัวหรือสมองแปลว่ามี เช่น visual hallucination นั้น ไม่มีภาพอะไรแต่เจ้าตัวว่ามีภาพนั้นเป็นภาพหลอน ภาวะนี้มักจะเป็นภาวะผิดปกติที่อาจเกิดความผิดปกติทางจิต (จิตเวช) หรือมีโรคทางสมอง ตลอดจนผิดปกติทางตา ผู้ที่มีอาการหลอนจึงควรตรวจสภาวะทางจิต ตรวจสมอง และตา และภาวะหลอนนี้อาจจะถูกกระตุ้นด้วยภาวะทางกาย เช่น ไข้สูง อดนอน alcoholism หลังจากการชัก ตลอดจนผู้ป่วยที่มีโรคอยู่ในภาวะสุดท้ายของชีวิต เป็นต้น

Optical หรือ Visual illusion หรือภาพลวงตา เกิดได้เป็น 3 ขั้นตอน

  1. มีสิ่งเร้า (stimulus) มากระทบตาบริเวณจอตากระตุ้นประสาทตา
  2. กระแสประสาทจากประสาทตาวิ่งไปส่วนกลางยังสมอง ก่อให้เกิดการรับรู้ (perception)
  3. สมอง ส่วนรับรู้การเห็นประมวลออกมาเป็นภาพ ซึ่งต้องอาศัยหลายๆ อย่าง เช่น ความรู้เดิม การ เรียนรู้ที่ผ่านมาตามความเข้าใจ ตามบุคลิกภาพ เจตคติ ความต้องการ ตลอดจนตามสติปัญญา ออกมาเป็นการรับรู้ว่าเป็นภาพอะไร สมองอาจจะแปลว่าเห็นภาพอะไร โดยอาศัยหลักการคล้ายคลึงกับอะไร ความสมบูรณ์ของภาพ รูปแบบและรูปร่างของภาพ ตลอดจนความสม่ำเสมอของแสงสี ถ้าแสงเปลี่ยนสีของภาพก็อาจจะเปลี่ยนไป สมองอาจจะเปรียบเทียบกับภาพที่อยู่ใกล้เคียง เป็นต้น

มีผู้อธิบายลักษณะของภาพลวงตาออกเป็น

  1. Physiologic เป็นภาพลวงตาที่ปกติ เช่น การเกิดภาพติดตา (afterimage) หลังจ้องภาพใดนานๆ แม้ภาพหายไปแล้ว ผู้นั้นยังรับรู้เสมือนภาพนั้นยังอยู่อาจเป็น positive afterimage คือภาพติดตาสีเหมือนเดิมหรือเป็น negative afterimage เป็นภาพติดตาที่มีสีตรงข้ามกับเดิมเชื่อว่าเป็นกลไกของจอตาที่รับภาพแล้วจำไว้สักครู่แม้ภาพจะหายไป
  2. Pathologic illusion เกิดจากมีสิ่งเร้าภายนอก (external stimuli) ภาพลวงตาชนิดนี้มักจะคงที่ กระจาย เช่น ภาวะ oscillopsid (เห็นภาพรอบข้างเคลื่อนไหว) metamorphosid (เห็นภาพผิดเพี้ยนไป) ที่พบในโรคของ macula , micropsid เห็นภาพขนาดเล็กลงที่มักพบในภาวะ central serous retinopathy , Palinopsid (เห็นภาพ afterimage มากมาย) ที่พบในรายมีพยาธิสภาพของสมอง การเห็นภาพแปลกๆ ในผู้ป่วยโรค migrain , ตลอดจน akinetopsia (ไม่รับรู้ภาพที่เคลื่อนไหว) ในผู้ป่วยโรคทางสมอง

    ภาวะ pathologic illusion อาจเกิดจากโรคตา , migrain , perceptive disorder ตลอดจนได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ

  3. Cognitive illusion เป็นการแปลภาพที่เกิดจากการได้สิ่งเร้าร่วมกับการเรียนรู้ ผสมผสานไปกับโลกรอบๆ ตัว ความคิดคำนึงทำให้เกิดภาพต่างๆ ดังที่เห็นกัน เช่น เส้นตรงที่ขนาดเท่ากันเห็นเป็นต่างกันจากสิ่งเร้ารอบๆ ข้างที่ต่างกัน สีของเสื้อในที่ส่วนต่างกันอาจเห็นสีต่างกัน ภาพต่างๆ ที่เห็นแปลกตาไป เช่น ภาพหญิงสาวมองอีกมุมอาจเห็นเป็นหญิงชรา เป็นต้น

กล่าวกันว่า cognitive illusion ขึ้นอยู่กับ

  1. สิ่งเร้า (stimulus) ซึ่งต้องมีความคงที่ของสิ่งเร้ามีความคงที่ของรูปร่าง ขนาด ตำแหน่ง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คงที่ ในเรื่องของสิ่งเร้าเราจะดูถึงความสัมพันธ์กันของขนาดที่ปรากฏ การตัดกันของเส้น (สำหรับภาพที่เป็นเส้น) การตีความลึกตามหลักของสัดส่วน การหักมุมหรือการตัดกันของเส้น
  2. ตาและประสาทตา การเกิดภาพลวงตาอาจเกิดจากการใช้ตา 2 ข้าง ที่ส่งภาพไปยังสมองส่วนที่รับภาพของตาในแนวดิ่งและแนวราบไม่เท่ากัน ข้อจำกัดของความสามารถของเซลล์ประสาทตา เช่น rod เห็นในที่สลัวและไม่เห็นสี cone เห็นในที่สว่างและมีสีสัน จอประสาทตาแต่ละบริเวณมีความเห็นได้คมชัดต่างกัน รวมทั้งคุณสมบัติของแสงที่กระทบวัตถุมีการกระจาย ดูดซึมต่างๆ กันในแต่ละคลื่นแสงแต่ละสี
  3. การแปลภาพของสมอง อาศัยประสบการณ์ การเรียนรู้ เด็กจะแปลภาพออกมาไม่เหมือนผู้ใหญ่ และคนเราจะมองภาพและแปลภาพโดยอาศัยการคล้ายคลึงกัน เปรียบเทียบกัน การอยู่ชิดกัน การต่อเนื่องของภาพ การประเมินความลึกโดยอาศัยตำแหน่งขนาดและเงาของแสง แม้วัตถุสีเดียวกันแต่อยู่ในบริเวณแสงน้อยอาจจะดูเข้ม ขณะที่อยู่ในที่สว่างจะดูสีอ่อน เป็นต้น

ประโยชน์ของการมีภาพลวงตา

ธรรมชาติในสิทธิหลายชนิด มีภาพลวงตาเพื่อการหลบซ่อน เพื่อการอยู่รอด เพื่อดึงดูดคู่ หลอกสายตานักล่าโดยอาศัยภาพลวงตาสำหรับคนเรา ศิลปิน สถาปนิก นักออกแบบใช้เทคนิคนี้ ในการสร้างสรรค์ เช่น ห้องที่เล็กใช้สีอ่อนทำให้ลวงตาว่าห้องกว้าง การวาดภาพเรียวและแคบให้รู้สึกว่าเป็นภาพสูง ตึกที่สูง เป็นต้น โดยสรุปประโยชน์ของภาพลวงตา

  1. การแต่งตัวเสื้อผ้าอำพรางรูปร่าง เช่น คนเตี้ยควรใส่ลายตั้ง ทำให้แลดูสูงขึ้น คนอ้วนใส่เสื้อสีเข้มทำให้แลดูร่างเล็ก เป็นการออกแบบเสื้อผ้าเพื่อเกิดภาพลวงตาให้ดูสวยงามอำพรางรูปร่างที่แท้จริง
  2. ออกแบบตกแต่งอาคาร ที่เล็กแคบ ทาสีอ่อน จะแลดูกว้างขึ้น
  3. สร้างภาพยนตร์การ์ตูนแสดงการเคลื่อนไหว (animation) ตลอดจนมายากลบางอย่างอาจใช้ภาพลวงตามาช่วย