สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: เลือดออกจากเบาหวานเข้าจอตา

สาระน่ารู้จากหมอตา

คุณลุงประดิษฐ์ วัย 64 ปี ตกใจเมื่อรู้สึกว่าตาขวา ซึ่งปกติเห็นชัดพอๆกับตาซ้ายมัวลงทันที พอไปนอนพักสักครู่ดูเหมือนตาขวาจะเห็นดีขึ้น แต่กลับรู้สึกเหมือนมีอะไรลอยมาบังตาเป็นระยะๆ โดยรวมสายตาลดลงมาระดับหนึ่ง อีก 2-3 วันต่อมาสายตาขวาก็ยังมัวเหมือนเดิม จึงมารับการตรวจตา พบว่า ตาขวามีเลือดออกจางๆ ในน้ำวุ้นตา เป็นเหตุให้บังสายตา เห็นจอตาลาง ๆ ไม่ชัดเจนว่ามีพยาธิสภาพอะไรที่เป็นเหตุให้มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา ตรวจตาซ้ายพบว่ามีจุดเลือดออก น้ำเหลืองซึมที่จอประสาทตาทั่ว ๆไป ลักษณะเข้าได้กับภาวะเบาหวานเข้าจอตา/เบาหวานขึ้นตา (diabetic retinopathy) จึงพอจะคาดเดาได้ว่าน่าจะมีพยาธิสภาพที่คล้ายกัน แต่อาจรุนแรงกว่าในตาขวา หลังจากนั้นจึงซักประวัติเพิ่มเติม พบว่าคุณลุงเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ 50 ปี ไปตรวจรักษาเบาหวานบ้างเป็นบางครั้ง มาระยะหลังพบว่าร่างกายแข็งแรงสบายดีจึงไปพบหมอน้อยลง อีกทั้งระยะหลังคุณหมอให้ยาเดิมตลอด จึงไปซื้อยาเอง ไม่ได้ไปตรวจในระยะ 2 ปีหลัง และสารภาพว่าไม่เคยรับการตรวจตาเลยเพราะสายตาดีตลอด

เป็นการเข้าใจผิดของลุงอย่างมาก 2 ประการ

  1. การซื้อยารักษาโรคเบาหวานโดยไม่รับการตรวจเลย อาจจะทำให้ได้ยาไม่เหมาะกับระดับน้ำตาล อาจมากไปน้อยไป อีกทั้งการพบหมอแต่ละครั้งจะได้ตรวจระบบร่างกายทั่วไปว่ามีความผิดปกติอันเนื่องจากเบาหวานหรือไม่ เพราะโรคเบาหวานมีผลต่อหลอดเลือดทั่วร่างกาย จึงมีผลต่ออวัยวะอื่น ๆ ด้วย
  2. การไม่รับการตรวจตาเลย เนื่องจากไม่มีความผิดปกติอะไรทางตาเลย เป็นการเข้าในผิด ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) มักจะมีโรคตาหลายอย่าง ที่พบบ่อยคือ ต้อกระจก และที่สำคัญคือโรคต้อหิน (ถ้าไม่รักษาแต่ต้นจะทำให้สายตาเสียไปอย่างถาวร) แม้คนสูงอายุที่ไม่เป็นเบาหวานก็ควรตรวจโรคต้อหินเป็นระยะๆ (ปีละครั้ง) ยิ่งผู้เป็นเบาหวานควรจะต้องคัดกรองเบาหวานเข้าจอตาร่วมกับต้อหินเสมอ ด้วยเหตุที่ทั้งต้อหินและภาวะเบาหวานทำลายจอตานั้น ระยะแรกสายตาจะยังปกติดี ถ้ารอให้สายตาผิดปกติแล้วจะมีการสูญเสียสายตาระดับหนึ่งที่แก้ไขไม่ได้

ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้(แม้สายตาจะปกติ)

  1. ผู้ที่เป็นเบาหวานตั้งแต่เด็ก (อายุ 0-30 ปี) มักจะเป็นเบาหวานที่ต้องใช้ insulin ควรรับการตรวจตาเมื่อเป็นเบาหวานแล้ว 5 ปี หลังจากนั้นตรวจทุกปี
  2. เป็นเบาหวานเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ควรตรวจตาทันที (กลุ่มนี้มักเป็นเบาหวานมาก่อนการรักษาหลายปี) และตรวจตาทุกปี
  3. หากพบเริ่มมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นแล้ว หมออาจนัดตรวจเร็วขึ้น ควรมารับการตรวจตามนัด

การตรวจพบความผิดปกติของจอตาในระยะต้นๆ ทำการรักษาได้ง่ายกว่ามาตรวจพบเมื่ออยู่ในระยะหลัง ถ้าพบเบาหวานเข้าจอตาระยะแรกรักษาได้ด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งทำได้ง่ายไม่เจ็บปวด ไม่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ถ้ามาตรวจพบระยะหลังต้องใช้วิธีผ่าตัด ซึ่งเสียทั้งค่าใช้จ่าย เจ็บหลังผ่าตัด อาจมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด และบางรายมีการสูญเสียสายตาบางส่วนที่แก้ไขไม่ได้

ถ้าเป็นเบาหวานจึงควรรับการตรวจตาบ้างจากจักษุแพทย์ แม้เบาหวานจะควบคุมได้ดี กล่าวคือ ถ้าเบาหวานควบคุมไม่ได้และเป็นเวลานาน มักจะเกิดภาวะเบาหวานทำลายจอตา เร็วกว่าเบาหวานที่ควบคุมดี และเมื่อควบคุมดี เบาหวานก็อาจทำลายจอตาได้ในเวลาที่นานกว่า