สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ตาสั้นเทียม (Pseudomyopia)

สาระน่ารู้จากหมอตา

นายวุฒิ เป็นนักศึกษาปีที่ 2 อายุ 18 ปี ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เป็นคนมุ่งมั่นในการเรียนมาก อ่านหนังสือท่องตำราเป็นประจำตลอดปีที่ผ่านมา เมื่ออยู่ปี 1 รู้สึกว่าสายตามองไกลไม่ชัด เวลาฟังอาจารย์สอนหน้าชั้น มองภาพจากจอ slide ไม่ชัดเจน จึงไปลองซื้อแว่นสายตาตามร้านทั่วไป โดยเอาแว่นกำลังต่าง ๆ มาทดลอง พบว่าใส่แว่นสายตาสั้นขนาด 200 มองได้ชัดเจนดี จึงซื้อแว่นมาใส่และเรียนหนังสือมองได้ชัดเจนขึ้น ใส่แว่นขนาดนี้ได้ 3-4 เดือน เริ่มรู้สึกเหมือนตาจะสั้นลง ไปทดสอบด้วยแว่นสายตาที่มากขึ้นเป็น 300 พบว่าเห็นชัดดีกว่าเดิมจึงเปลี่ยนแว่นใหม่ ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแว่นมา 3 อัน อันสุดท้ายที่ใส่มีขนาด 400 มาระยะหนึ่ง เมื่อเดือนก่อน นายวุฒิรู้สึกปวดศีรษะบ่อย ๆ หาสาเหตุไม่ได้ บางครั้งปวดตาจนอาเจียนและต้องนอนพัก ปวดมากเวลาใช้สายตา ไปรับการตรวจจากหมอทั่วไป ไม่พบโรคอะไรที่เป็นสาเหตุ ไปตรวจแม้ทำ X-Ray Computer สมองมาแล้ว จนมา 2 วันนี้มีผู้แนะนำว่าลองไปตรวจตาดู ผลการตรวจพบว่าเมื่อใส่แว่นขนาด 400 ที่ใส่ประจำเห็นชัดเจนเท่าคนปกติ แต่พอมาตรวจวัดกำลังสายตาพบว่าสั้นประมาณ 100 เท่านั้น จึงน่าจะเป็นไปได้ที่ใส่แว่นเกินจริง เมื่อวัดสายตาอีกครั้งโดยหยอดยาลดการเพ่ง (cycloplegic) พบว่าสายตาปกติไม่สั้นเลย นั่นคือนายวุฒิมีสายตาสั้นเทียมถึง 400 คือใส่แว่นเกินจริงไป 400 เป็นเหตุให้เกิดอาการปวดศีรษะบ่อยๆ เพราะเมื่อสายตาปกติ แต่ใส่แว่นสายตาสั้น 400 ทำให้ต้องเพ่งสายตาให้สั้น 400 ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ จึงงดให้ใส่แว่นสายตาสั้น ตอนแรก ๆ นายวุฒิบ่นว่าถ้าไม่ใส่มองไกลไม่ชัดเลย เพราะนายวุฒิเคยกับการเพ่งตลอดเวลา กล้ามเนื้อการเพ่งไม่คลายตัว

วิธีแก้ไขมิให้เกิดภาวะสายตาเทียมในรายนี้ทำโดย

  1. ใช้สายตาใกล้น้อยลง เพื่อลดการเพ่ง กล่าวคือ หากเรามองใกล้ กล้ามเนื้อที่ช่วยการเพ่งต้องทำงานเพื่อให้มีสายตาสั้น (เพื่อว่ามองใกล้ได้ชัดเจน) ชั่วคราว จึงควรใช้สายตาใกล้ให้น้อยลง โดยมีการพักสายตาเป็นระยะ เช่น อ่านหนังสือครึ่งชั่วโมง พักสายตาโดยการมองไกลสัก 5-10 นาที เคยมีผู้เสนอสูตร 20:20:20 ดูเข้าท่าดีคืออ่านหนังสือ 20 นาที เงยหน้ามองไกล 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที เมื่อมองไกลกล้ามเนื้อการเพ่งไม่ทำงานคลายตัวลงเป็นระยะๆ
  2. อ่านหนังสือในที่แสงสว่างเหมาะสม ถ้ามืดไปตาตาต้องเพ่งมากกว่าปกติ
  3. ใช้ยาหยอดลดการเพ่งช่วย

ในกรณี นายวุฒิ เริ่มด้วยการงดใส่แว่นสายตา 400 นิ้ว พักสายตาเป็นระยะตามข้อ 1 และข้อ 2 อาการยังไม่ดีขึ้น พิจารณาหยอดยาลดการเพ่งช่วยจนในที่สุด ตาสั้นเทียมหายไป อาการปวดศีรษะหายตามมา

สรุป: สายตาสั้นเทียมเป็นเหตุให้มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังอย่างหนึ่ง