สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: หัดเยอรมัน

สาระน่ารู้จากหมอตา

เมื่อหลายปีก่อน เคยเป็นอาสาสมัครตรวจโรคตา ดูสภาพสายตาของเด็กนักเรียนโรงเรียนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่อยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อดูสาเหตุของตาบอดในเด็ก ตลอดจนคัดกรองเด็กนักเรียนในโรงเรียนตาบอด อาจมีบางรายที่ยังต้องการรับการรักษาเพื่อให้สายตาดีขึ้น หรือบางรายเพื่อประคับประคองให้สายตาที่เหลืออยู่บ้างให้อยู่อย่างนั้นตลอดไป ในสมัยก่อน เด็กนักเรียนในโรงเรียนตาบอดบางคน อาจไม่ได้ผ่านการตรวจตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ที่ลงความเห็นว่าควรรับการศึกษาจากโรงเรียนคนตาบอด ส่วนมากผู้ปกครองจะเลี้ยงดูกันเอง อาจไปรับการตรวจจากแพทย์ทั่วไป ลงความเห็นว่าตาบอด พออายุถึงวัยเรียนก็ส่งมาเข้าเรียนโรงเรียนคนตาบอด จำได้ว่า วันหนึ่ง เจอเด็กหญิงอุบล อายุ 8 ปี เป็นนักเรียนประจำ ตรวจพบต้อกระจกในตาทั้งสองข้าง ต้อหนามากจนมองไม่เห็นจอตาและประสาทตา แต่คาดว่าน่าจะยังพอใช้ได้ เนื่องจากรูม่านตายังมีปฏิกิริยาต่อแสงพอสมควร วันที่ตรวจพบว่าเด็กเกือบมองไม่เห็นเลย เห็นเพียงมือไหวๆ (hand motion) จึงได้รับมาทำการักษาในโรงพยาบาล จากการตรวจและซักประวัติจึงพบว่า นอกจากตาไม่เห็นแล้ว การได้ยินยังไม่ดีนัก เรียกว่าพิการทั้งตาและหู เมื่อซักประวัติและตรวจอย่างละเอียด จึงพบว่า เด็กหญิงอุบลอยู่ในกลุ่มโรคที่เรียกว่า congenital rubella syndrome (CRS) เกิดความผิดปกติจากการที่แม่เป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก

ภาวะ CRS นี้ รายงานครั้งแรกโดย Norman Mcalister Gregg จักษุแพทย์ชาวออสเตรเลียในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการระบาดของโรคหัดเยอรมัน ตัวท่านเป็นจักษุแพทย์โรคเด็ก ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่ทำต้อกระจกในระยะนั้น 78 ราย ถามและซักประวัติมารดาเป็นหัดเยอรมันถึง 68 ราย และได้เสนอผลงานนี้ในการประชุมวิชาการว่า พบต้อกระจกในเด็กจำนวนมากในมารดาที่เป็นหัดเยอรมัน เมื่อปี 1941 หลังจากติดตามผู้ป่วยต่อมา มารดาในเด็กกลุ่มนี้แจ้งว่า เด็กมีการได้ยินน้อยกว่าปกติ ท่านได้เสนอให้ที่ประชุมทราบว่า เป็นทั้งต้อกระจกและหูหนวก ซึ่งต่อมา ศาสตราจารย์ Olivia Lancaster จากมหาวิทยาลัย Sydney ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกับโรคหัดเยอรมันในมารดา เรียกกันว่า CRS

อาการที่ classic ของ CRS ประกอบด้วย 3 อย่าง (triad) ได้แก่ หู ตา และหัวใจ

  1. sensorial neural deaf (หูหนวกจากระบบประสาทหู) พบได้ถึง 58%
  2. มีความผิดปกติทางตาพบได้ 43% ได้แก่ ภาวะต้อกระจก, micropathalmos และ retinopaty
  3. มีความผิดปกติของหัวใจ พบได้ 30% ได้แก่ pulmonary artery stenosis, patent ductus arteriosus (PDA)

ภาวะอื่นที่อาจพบได้บ้าง ได้แก่ ผิดปกติของม้าม ตับ ไขกระดูก microcephaly น้ำหนักแรกคลอดน้อย IQ ต่ำ ตลอดจน thrombocytopenia เป็นต้น

ระยะหลัง มีการศึกษาพบว่า จะเกิดภาวะ CRS ถ้า

  1. มารดาเป็นหัดเยอรมันในระยะ 0-28 วันก่อนปฏิสนธิ (ก่อนตั้งครรภ์) พบได้ 43%
  2. อายุครรภ์ 1-12 สัปดาห์ พบได้ 51%
  3. อายุครรภ์ 13-26 สัปดาห์ พบได้ 23%
  4. ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เกือบไม่พบเลย

ด้วยเหตุที่อาการของหัดเยอรมันมีน้อยมากเมื่อเทียบกับหัดธรรมดา กล่าวคือ อาจไม่มีอาการอะไรเลย หรือมีการติดเชื้อระบบหายใจส่วนต้น ไข้ต่ำๆ ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองหลังหูและท้ายทอยโต มีผื่น maculopapular rash ที่ผิวหนัง

เมื่อมารดาติดเชื้อไวรัสนี้ เด็กในครรภ์ อาจจะ

  1. ปกติดี
  2. เสียชีวิตในท้อง
  3. เด็กเกิดมาพร้อมภาวะ CRS

เมื่อเด็กเกิดมาพร้อมกับภาวะ CRS แพทย์จะรักษาตามอาการที่เป็น สำหรับเด็กหญิงอุบล เมื่อมารับการผ่าตัดต้อกระจก ทำให้สายตาดีขึ้น เริ่มเห็นดีกว่าเดิมมาก จนสามารถไปเรียนในโรงเรียนปกติได้ แต่ต้องได้รับการช่วยเหลือบ้าง เนื่องจากเด็กไม่ได้รับการรักษาแต่แรก อาจมีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วย และโชคดีที่หูยังเสียไม่มาก และหัวใจก็ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างปกติ

การป้องกันมิให้เกิดภาวะ CRS นี้ทำได้โดยรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันในสตรีวัยเจริญพันธุ์น่าจะดีที่สุด