สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: นกจิกตา

สาระน่ารู้จากหมอตา

วันนี้มีหญิงสาววัย 40 ปี มาขอให้ช่วยผ่าตัดแก้ไขตาขวาซึ่งใช้การไม่ได้มาตั้งแต่เด็ก เจ้าตัวไม่รู้สึกอะไร แม้ตาขวาจะมีแววขาวตรงกลางตาดำ ดูไม่สดใสนักก็เป็นเพียงจุดขาวเล็กๆ ถ้าไม่สังเกตก็ไม่พบความผิดปกติ คือไม่ถึงกับน่าเกลียด มา 5-6 ปีหลัง เธอสังเกตว่าตาขวาค่อยๆ เขออก จนลูกสาวที่มีอายุ 8 ขวบ พูดขึ้นว่า ตาคุณแม่เหล่ เพื่อนๆ หนูทักว่าตาคุณแม่ผิดปกติ ลูกสาวแจ้งว่าอายุเพื่อนที่มีแม่มีตาเหล่ ไม่น่าเชื่อเลยที่เด็กวัย 8 ขวบ มีอิทธิพลทำให้คุณแม่ต้องมาหาหมอ เพื่อถามดูว่าสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ผลการตรวจตาคุณแม่จึงพบว่าตาขวาเห็นเลือนราง แค่นับนิ้วในที่ระยะ 2 ฟุตได้ถูก ไกลกว่านี้ไม่เห็น มีตาขวาเขออกชัดเจน การที่เห็นมัวลงมากเป็นเพราะมีแผลฝ้าขาวตรงกลางตาดำพอดี ได้ซักประวัติอาการเพิ่มเติม จึงทราบว่า ตาขวาถูกนกจิกตาตั้งแต่อายุ 7 ปี ระหว่างจ้องดูนกในกรงที่เลี้ยงไว้ด้วยความเพลิดเพลิน แล้วเกิดความเจ็บปวดร้องไห้ จากที่นกเข้ามาใกล้และจิกไปที่ลูกตาขวา เมื่อไปตรวจจึงพบว่ามีแผลจากนกจิกเป็นรูปปากฉลามกลางตาดำทะลุไปถึงแก้วตา เนื้อแก้วตาไหลออกมาในช่องหน้าตา นับเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงถึงขั้นตาทะลุ และได้รับการผ่าตัดแก้ไขตั้งแต่ตอนนั้น แต่สายตาก็พร่ามัวมากมาตลอด ใช้สายตาซ้ายเป็นหลัก

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีข้อที่น่าสนใจเป็นอุทาหรณ์ให้ระวังกัน ได้แก่

1. อุบัติการณ์ของนกจิกตา จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน พบเด็กที่มาพบหลายรายที่มีประวัติว่าถูกนกจิกตา มักจะถูกกลางตาดำ โดยที่หนังตาไม่มีรอยแผลแต่อย่างใด พอประเมินกันว่านกมีสายตาที่ดีและไวมาก ในขณะที่เด็กจ้องดู ตาอาจมีขยับเล็กน้อย แต่นกเห็นตาดำขยับคล้ายเหยื่อ จึงจิกลงตรงกลางตาดำทันที ด้วยปลายปากที่แหลมคม จึงจิกเข้าจนทะลุตาดำไปถึงแก้วตา จึงมีข้อเตือนใจว่าอย่าได้ให้เด็กดูนกชิดกรงนกซึ่งทำเป็นซี่ๆ ตาเด็กที่กลอกไปมา นกอาจเห็นเป็นเหยื่อ จึงจิกลงตาดำอย่างรวดเร็ว ถ้าพูดถึงแผลที่ตาดำ ถ้าเกิดที่ตรงกลางมีผลต่อสายตาอย่างมาก แม้จะเย็บแก้ไขทันที มักจะมีผลต่อสายตาค่อนข้างมาก ยิ่งถ้าแผลทะลุลึกถึงแก้วตา ดังเช่นผู้ป่วยรายนี้แล้ว สายตาจะมัวลงอย่างมาก อีกทั้งสายตาที่มัวเมื่อเทียบกับตาอีกข้างในวัยเด็ก จะก่อให้เกิดภาวะตาขี้เกียจตามมา

2. คนที่มีสายตาปกติ กล้ามเนื้อตาจะดึงตาให้อยู่ตรงกลาง ตาตรงไม่เขเข้าหรือออก หากตาข้างใดข้างหนึ่งไม่ดี ทำงานไม่เต็มที่ ดูเหมือนจะไม่ทำงาน กล้ามเนื้อกลอกตาจึงไม่ดึงตาให้อยู่ตรงกลาง โดยในผู้ใหญ่หรือเด็กโต เมื่อตาพัฒนาเต็มที่ กล้ามเนื้อดึงตาออกนอกจะแข็งแรง ทำให้ตาข้างนั้นเขออก ถ้าในเด็กเล็กกล้ามเนื้อดึงตาเข้าในแข็งแรงกว่า ตาจึงมักจะเหล่เข้าใน แม้ว่าตาเขจากการไม่ใช้งานอาจแก้ไขโดยผ่าตัดเพิ่มความแข็งแรงร่วมกับหย่อมกล้ามเนื้อที่ดึงให้เขได้ก็ตาม ในบางรายอาจดูตาตรงในระยะแรก แต่หลายๆ ปีต่อมา ตาอาจจะเขได้อีก