สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ถูกลูกแบตที่ตา

สาระน่ารู้จากหมอตา

คุณประเสริฐ วัย 30 ปี เป็นพนักงานบริษัท ออกกำลังกายด้วยการตีแบตฯทุกเย็น หลังเลิกงานมาหาหมอตา ด้วยอาการปวดตามากมา 1 วัน โดยให้ประวัติว่า 3 วันก่อนระหว่างเล่นแบต ถูกลูกขนไก่ที่ตีไม่รุนแรงนักจากฝั่งตรงข้ามถูกที่เบ้าตาขวา รู้สึกเจ็บตา ตาขวาพร่าทันที ครู่เดียวก็หายเป็นปกติ สามารถเล่นต่อได้ เมื่อกลับถึงบ้านก็ไม่มีอาการผิดปกติอะไร วันรุ่งขึ้นคงไปทำงานได้ตามปกติ แต่ตกเย็นรู้สึกไม่ค่อยสบายตาขวาเล็กน้อย ก็ไม่ได้เอะใจอะไร คงยังทำงานได้ตามปกติไปได้ จนถึงวันที่ 3 รู้สึกปวดตาขวามากขึ้นร่วมกับปวดศีรษะไปข้างหนึ่ง จึงขอลาพักงานนอนพักอยู่ที่บ้าน หวังว่าเมื่อได้พักผ่อนคงจะอาการดีขึ้น พอตกบ่าย ๆ คุณประเสริฐยังมีอาการปวดตา จึงลองปิดตาซ้าย พบว่าตาขวามัวลงมาก ทั้ง ๆ ที่แต่เดิมเห็นดีทั้ง 2 ข้าง จึงตกใจรีบมาพบหมอตา

การตรวจตา พบว่าตาขวาแดงมาก มีเลือดเต็มช่องหน้าตา สีเข้มมากออกสีดำตามที่ฝรั่งเรียกว่า “eight ball haemorrhage” เลือดออกมากจนสีเข้มคล้ายลูกบิลเลียดเบอร์ 8 ซึ่งมีสีดำ แน่นอนความดันตาข้างนั้นสูงถึง 60 มม. ปรอท ยังนึกสงสัยว่าคุณประเสริฐทนต่อความเจ็บปวดได้อย่างไร วัดสายตาเห็นแค่แสงสว่าง แทบจะไม่เห็นหน้าคนเลยในตาขวา จำเป็นต้องรับตัวไว้ในโรงพยาบาล สังเกตอาการร่วมกับให้ยาดู 1 วัน เลือดยังมากร่วมกับปวดตามาก จึงต้องตัดสินใจผ่าตัดเข้าเข้าไปล้างเลือดออก วันรุ่งขึ้น อาการเจ็บปวดลดลงมาก แต่ตายังพร่ามัว ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลต่ออีกหลายวัน เลือดในช่องหน้าตาแห้งไป แต่เม็ดเลือดแดงได้แทรกซึมเข้าไปในกระจกตาบางส่วน (blood stained cornea) จึงทำให้ตายังมัวอยู่ และต้องติดตามว่าเลือดที่แทรกอยู่จางลงได้มากแค่ไหน ถ้าไม่จางหรือยังเหลือค้างจนบังการมองเห็น จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการเปลี่ยนกระจกตา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อถูกลูกแบต ทำให้แรงกระแทกเข้าไปกระเทือนหลอดเลือดที่ฐานของม่านตา เกิดการฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกข้างในช่องหน้าตา (traumatic hyphema) หากอุบัติเหตุไม่รุนแรงนัก ในระยะแรกเลือดหยุดได้เองด้วยกระบวนการหยุดเลือดของร่างกาย ทำให้ในวันที่ถูกลูกแบตอาการไม่มาก เราเรียกเลือดออกทันทีนี้ว่า primary bleeding การหยุดของเลือดหรือการสมานแผลของหลอดเลือดจะไม่แข็งแรงนัก หากผู้ป่วยยังคงมีกิจกรรมตามปกติ ทำให้หลอดเลือดที่สมานแล้วนั้นฉีกขาดในตอนหลัง ซึ่งมักจะเกิดในวันหลัง (วันที่ 2-4 หลังอุบัติเหตุ) ทำให้มีเลือดออกได้มากขึ้น เรียกกันว่า secondary bleeding ซึ่งมักจะออกได้มากกว่าเดิม ทำให้ปวดตา เช่น กรณีของคุณประเสริฐ

การถูกระแทกบริเวณตา (blunt trauma) ที่พบบ่อยก็คือเลือดออกในช่องหน้าตา ซึ่งเลือดที่ออกในตอนแรก บางครั้งเล็กน้อยมาก ต้องตรวจด้วยกล้องขยายของหมอที่เรียกกันว่า microscopic hyphema นั้นต้องระวังภาวะ secondary bleeding ไว้ด้วยเสมอ จึงควรพักผ่อนจนกว่าการสมานแผลที่หลอดเลือดจะสมบูรณ์ (ใช้เวลาประมาณ 4 วัน) ถึงจะมั่นใจ หากมีเลือดออกซ้ำ ต้องได้รับการดูแลจากหมอตา ประเมินว่าควรใช้ยาห้ามเลือด ยาลดความดันตา หรือตัดสินใจผ่าตัดเอาเลือดออก เพื่อป้องกันผลแทรกซ้อนจากเลือด อันได้แก่ ต้อหิน และต้อกระจกฝ้าจากเม็ดเลือดเข้าไปฝัง

ทุกอุบัติเหตุที่ตา แม้ว่าจะไม่รู้สึกเจ็บ ตาไม่มัว เพื่อความไม่ประมาท ให้หมอตาดูว่ามีเลือดออกหรือไม่ จึงน่าจะปลอดภัยกว่า