สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: สายตาผู้สูงอายุ (2)

สาระน่ารู้จากหมอตา

ตอนนี้ ต่อจากตอนที่แล้ว คุยเรื่องของคุณอนงค์ต่อคะ

คุณอนงค์ ตัดแว่นสายตาไปใช้เวลาทำบัญชี ตั้งแต่วันที่มาตรวจก็ทำงานได้ดีตลอดมา 6 เดือนต่อมา คุณอนงค์มารับการตรวจตาปกติ ผลการตรวจคล้ายเดิม คงแนะนำใช้แว่นมองใกล้ด้วยแว่นคู่เดิมต่อไป คราวนี้คุณอนงค์มีข้อสงสัยว่า คุณลัดดา ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานทำบัญชีเหมือนกัน อายุไล่เลี่ยกัน ทำไมยังไม่เห็นต้องใส่แว่นเวลาทำบัญชี ทั้ง ๆ ที่หมอได้อธิบายว่าสายตาผู้สูงอายุต้องเป็นทุกคน และได้ยินมาว่าคนสายตาสั้นมักจะมีสายตากลับสามารถอ่านหนังสือได้เมื่ออายุมากขึ้น ทำไมตนเองจึงไม่เป็นเช่นนั้น

ในกรณีคุณอนงค์ ที่จริง หากแก้ไขสายตามองไกลด้วยแว่นตา เวลาอ่านหนังสือ คุณอนงค์ก็อาจทำได้โดยวิธีถอดแว่นสายตาออก แต่เนื่องจากคุณอนงค์แก้ไขสายตามองไกลด้วยคอนแทคเลนส์ การถอดคอนแทคเลนส์ออกเวลาอ่านหนังสือ แล้วใส่ใหม่เวลามองไกล คงไม่สะดวกนัก

สำหรับคุณลัดดา ซึ่งอายุ 40 กว่าเช่นกัน เข้าใจว่าเป็นคนสายตาปกติ เพราะไม่เคยใส่แว่นมาก่อน น่าจะต้องใช้แว่นเวลาอ่านหนังสือ สันนิษฐานว่า กำลังเพ่งของคุณลัดดาน่าจะมีมากกว่าคนทั่วไป แต่ใน 1-2 ปี ข้างหน้าอาจต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ หรือคุณลัดดาอาจมีสายตาสั้นเล็กน้อย ทำให้ความสั้นเล็กน้อยนี้หักล้างกับภาวะสายตายาวในวัย 40 ต้น ๆ

คุณอนงค์ยังข้องใจ ในวันรุ่งขึ้นจึงชวนคุณลัดดามารับการตรวจสายตา ปรากฏว่าคุณลัดดามีสายตา 2 ข้างไม่เท่ากัน คือตาขวาปกติ ส่วนตาซ้ายมีสายตาสั้นเล็กน้อย ประมาณ 75 จึงทำให้คุณลัดดายังอ่านหนังสือได้ชัด ในขณะที่มองไกลก็ยังเห็นชัดดี โดยขณะนี้มองไกลใช้ตาขวาเป็นหลัก ตาซ้ายเป็นตัวช่วย ขณะมองใกล้ตาซ้ายเป็นหลัก ตาขวาเป็นตัวช่วย จึงทำให้มองชัดทั้งไกลทั้งใกล้

สายตา 2 ข้างต่างกันมาก ทุกคนทราบดีว่าอาจมีปัญหาการใช้แว่นสายตา เพราะกำลังต่างกันมาก (ขอเน้นว่ามาก หมายถึง โดยเฉลี่ยมากกว่า 200 ขึ้นไป) ทำให้เกิดมึนงง ใส่แว่นไม่ได้ หรือในบางรายเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตาขี้เกียจ ในกรณีต่างกันไม่มาก เช่น คุณลัดดา กลับพบว่ามีผลดีที่มองเห็นได้ทั้งไกลและใกล้ โดยไม่ต้องใส่แว่นสายตา เมื่ออายุถึงวัยมีสายตาผู้สูงอายุ ตรงกับคำพังเพยที่ว่า “ของไม่ดีอาจมีส่วนดีอยู่บ้าง ของดีอาจมีส่วนเสียอยู่บ้าง”