สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: เด็กตาบอดในความทรงจำ

สาระน่ารู้จากหมอตา

เด็กหญิงจำปี อายุ 14 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ทางใต้ เป็นเด็กที่เป็นโรคจอตาเสื่อมแต่กำเนิดชนิดที่เรียกว่า retinitis pigmentosa หรือมักเรียกกันย่อๆ ว่า โรค RP ซึ่งระยะแรกตามัวมากเวลากลางคืน เพราะเซลล์ประสาทรับรู้การเห็น rod เสียก่อน นานเข้าจึงมัวทั้งกลางวัน กลางคืน เด็กหญิงเรียนหนังสือได้ถึงขั้น ป. 4 สายตามัวลงจนเข้าขั้นตาบอด ไม่สามารถไปเรียนร่วมกับคนปกติได้ มีคนแนะนำให้มาตรวจที่กรุงเทพฯ หรือมารับการฟื้นฟูสมรรถภาพของการมองเห็นในศูนย์ที่ช่วยคนตาบอดในกรุงเทพฯ เมื่อได้ตรวจ พบว่าหนูจำปี จอตาเสื่อมมากจนไม่มีวิธีรักษาให้ดีขึ้นแล้ว จึงแนะนำให้ไปฝึกอาชีพและเรียนอักษรเบรลล์จากโรงเรียนตาบอด พญาไท เด็กหญิงได้ไปติดต่อและเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนนี้ตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งวันหนึ่ง (หลังจากนั้นประมาณ 3 ปี) ดิฉันได้รับการขอร้องจาก อาจารย์ใหญ่ ร.ร.สอนคนตาบอดให้มาช่วยจัดนิทรรศการ การดูแลรักษาดวงตาในงานประจำปีของโรงเรียน ดิฉันได้ไปพบอาจารย์ใหญ่เพื่อดูสถานที่ ระหว่างเดินไปในบริเวณที่จะจัดงาน มีนักเรียนตาบอดหญิงจำนวนหนึ่งกำลังอยู่ในชั้นเรียนทำการถักนิตติ้ง ส่งเสียงทักทายขึ้นว่า “ คุณหมอ จำหนูได้ไหมคะ “ สารภาพว่าจำไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากให้เด็กเสียใจ จึงเข้าไปทักทายเสมือนว่าจำได้ เป็นเรื่องที่บางคนอาจสงสัย เนื่องจากเคยได้ยินเสียงเพียงชั่วระยะหนึ่งแล้ว ห่างไปอีก 3 ปี เด็กจะยังจำเสียงได้ หลายคนจึงบอกว่าคนตาบอด มักจะมีประสาทหูที่ดีกว่าคนปกติหรืออย่างไร ในความเป็นจริง ประสาทหูของเด็กตาบอดคงไม่ต่างจากคนปกติ อาจจะด้วยเหตุที่ประสาทตาไม่ทำงาน ใช้ประสาทหูเป็นหลักจึงมีความไวก็เป็นได้ เด็กหญิงจำปีคนใหม่นี้พูดเก่ง ท่าทางร่าเริง พูดจาคุยได้ฉะฉานกว่าที่ดิฉันเคยรู้จักมาก ได้อวดถึงผลิตผลที่เธอทำได้ประเภทนิตติ้งผ้าพันคอ เสื้อหนาว ให้ฟังด้วยความภูมิใจ

เด็กที่สูญเสียการมองเห็น หากเราได้พัฒนาการเรียนอักษรเบลล์ ฝึกอาชีพตามที่ถนัด ย่อมจะทำให้เธอมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังจะเห็นเธอร่าเริงกว่าที่พบในครั้งแรกมาก ทุกคนทั้งปกติและพิการ มีสิทธิ์ที่จะได้เรียนการศึกษาภาคบังคับเท่าเทียมกัน ถ้าตาถึงขั้นบอดคงต้องเรียนอักษรเบรลล์ โดยทั่วไปจะต้องฝึกทักษะที่เรียกกันว่า O and M หรือ Orientation and Mobility ให้เด็กมีทักษะในการเรียนรู้การเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนด้วยตนเอง ปรับสภาพให้รู้ว่าตัวเองอยู่ในสภาพแวดล้อมอะไร ตามด้วยการฝึกอาชีพตามถนัด ซึ่งจะทำให้คนตาบอดพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาวะต่อสังคมแต่ทำประโยชน์ให้สังคมได้ตามศักยภาพ