สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: การตรวจลานสายตา

สาระน่ารู้จากหมอตา

เป็นที่ทราบกันว่า ลานสายตาที่ผิดปกติ เป็นสิ่งที่ตรวจพบได้ในโรคต้อหินที่สำคัญอันหนึ่ง โดยเฉพาะต้อหินเรื้อรัง ลานสายตา นอกจากวินิจฉัยโรคต้อหิน (เพราะจะมีลักษณะเฉพาะ) ยังช่วยดูผลการรักษา ช่วยพยากรณ์โรคว่าต้อหินถึงขั้นรุนแรงแค่ไหน ในโปรแกรมใหม่ ๆ ดูการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาหนึ่ง ยังบอกถึงแนวโน้มการสูญเสียสายตาในภายภาคหน้าว่ามีมากน้อยแค่ไหนได้ด้วย การตรวจลานสายตาได้ผลที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การตรวจลานสายตาต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยด้วย โดยสรุป ลานสายตาที่เป็นผลน่าเชื่อถือได้ต้องอาศัย

  1. ผู้ป่วย ต้องเข้าใจวิธีตรวจและตั้งใจจนกว่าจะตรวจเสร็จ อาจต้องมีสมาธิในการตรวจด้วย
  2. เจ้าหน้าที่ผู้ทำการตรวจ ควรจะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ คอยกำกับให้ผู้ป่วยสื่อออกมาให้ถูกต้อง
  3. ตัวหมอเองต้องเลือกโปรแกรมการตรวจที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

โดยทั่วไป การดูลานสายตาที่ตรวจได้ ควรคำนึงถึง

  1. ค่าของความเชื่อถือได้ (reliability) ซึ่งจะแสดงออกในแผ่นภาพ โดยดูที่ Fixation loss, false positive และ false negative error ร่วมกับ gage track monitor ซึ่งดูถึงการกลอกตาของผู้ป่วย
  2. อย่าลืมถึง leaning effect โดยควรจะใช้การตรวจครั้งที่ 2 หรือ 3 มาเป็นแบบบรรทัดฐาน (ไม่ควรใช้ครั้งแรก) เพราะผู้ป่วยเริ่มเรียนรู้วิธีการตรวจและทำได้ถูกต้องยิ่งขึ้น
  3. อย่าลืมนึกถึงภาวะหนังตาบนหย่อนในผู้ป่วยบางคน (ผู้ป่วยสูงอายุ มักมีหนังตาหย่อนยาน) ทำให้ตรวจลานสายตาด้านบนผิดไป เพราะหนังตามาบัง
  4. ขอบของเลนส์ที่วางไม่ตรงกลาง (เลนส์ที่แก้ไขภาวะ presbyope) ต้องพิถีพิถันในการจัดเลนส์ให้อยู่ตรงกลาง (คนสูงอายุต้องแก้ภาวะ presbyope เวลาตรวจด้วยเสมอ)
  5. ต้องแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติของผู้ป่วยด้วยเสมอ
  6. ขนาดรูม่านตาที่เล็กหรือใหญ่เกินไปจะได้ลานสายตาคลาดเคลื่อนไป ควรมีรูม่านตาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 มิลิเมตร จึงไม่ควรตรวจหลังขยายม่านตา
  7. ผู้ป่วยที่มีสายตามัวมากจากภาวะอื่น (สายตา 20/200 ลงมา) ควรใช้ stimulus ขนาดใหญ่ (ขนาด V) และในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของ macula ทำให้จ้องเป้าไม่ได้ดี อาจต้องเปลี่ยนเป้าและคอยกำกับดู fixation บ่อยขึ้น
  8. ผู้ป่วยระยะสุดท้ายของต้อหิน หรือสูญเสียสายตาไปมาก ควรต้องใช้ stimulus ขนาดใหญ่
  9. ต้องไม่ลืมว่า ความผิดปกติของจอตาบางอย่าง เช่น หลอดเลือดจอตาอุดตัน อาจทำให้มีลานสายตาผิดปกติที่คล้ายกับต้อหิน
  10. โรคของระบบประสาทบางอย่าง อาจทำให้ลานสายตาผิดปกติคล้ายต้อหินได้

การแปลผลลานสายตาจึงต้องอาศัยการตรวจตาทั้งหมด รวมทั้งระดับสายตา และคำนึงถึง learning effect ตลอดจนความผิดปกติของจอตาและระบบประสาทที่อาจมีอยู่ด้วย