สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: Ocular blood flow and glaucoma (เลือดไปเลี้ยงตากับต้อหิน)

สาระน่ารู้จากหมอตา

หากมีเลือดไปเลี้ยงตามากขึ้น ดูเหมือนน่าจะทำให้โรคต้อหินที่เป็นเพราะเส้นประสาทตาฝ่อไปมีอาการดีขึ้น ดังมีรายงานการศึกษาของต่างประเทศที่พบว่าผู้ที่มีความดันโลหิตตัวล่าง (diastolic blood pressure) น้อยกว่า 50 - 55 มม.ปรอท มีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าคนปกติ 2 - 6 เท่า และจาก EMGT study พบว่าผู้ป่วยต้อหิน

ที่มีความดันโลหิตตัวบน (systolic blood pressure) ตั้งแต่ 125 มม.ปรอทลงมา จะมีการเสียของประสาทตามากกว่าคนปกติ 1.42 เท่า ซึ่งเป็นการศึกษาทางอ้อมโดยหลักที่ว่าความดันโลหิตที่สูงน่าจะมีเลือดไปเลี้ยงตาได้มากกว่าคนปกติ

ในปัจุบันมียารักษาต้อหินบางตัวที่พบว่า ภาวะต้อหินดีขึ้น มิใช่เพราะความดันตาลดลงอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นเพราะ ยานั้นๆ เพิ่มเลือดไปเลี้ยงตามากขึ้น เช่น ยาในกลุ่ม beta -1 antagonist (ต.ย. เช่น betaxolol) นั้นพบว่า เพิ่มเลือดไปเลี้ยงตาได้ด้วย ยาในกลุ่ม prostaglandin ก็มีการศึกษาพบว่าเพิ่มเลือดไปเลี้ยงตาได้ สำหรับยา กลุ่ม carbonic anhydrase inhibitor มีทั้งรายงานว่าเพิ่มได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตลอดจนยารับประทานที่อาจจะใช้รักษาโรคในระบบอื่นพบว่าเพิ่มเลือดไปเลี้ยงตาได้บ้าง ได้แก่ calcium channel blocker , estrogen , indomethacin และ Ginkgo biloba extract เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีวัดเลือดไปเลี้ยงจอตาได้มากน้อยที่ดีที่สุด เป็นข้อตกลงจากการประชุมของ WGA (world glaucoma association) ปี 2009 จากผู้เชี่ยวชาญต้อหินระดับโลกว่าแม้จะพบจากงานวิจัยว่า จำนวนเลือดที่มาเลี้ยงตา (ocular blood flow) น่าจะมีความสำคัญต่อการเกิดและการรักษาต้อหิน แต่ยังไม่แนะนำให้นำมาใช้ในทางคลินิกหรือรักษาผู้ป่วยและยาหยอดหรือยารับประทานที่ใช้กันยังไม่มีตัวยาใดที่องค์การอาหารและยา (FDA) ยอมรับว่าให้นำมาใช้ด้วยฤทธิ์การเพิ่มเลือดมาเลี้ยงที่ตา ส่วนมากจะเป็นฤทธิ์ลดความดันตาทั้งสิ้น

อนึ่ง การศึกษาถึง ocular blood flow ไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ ในคลินิก ต้องมีการตรวจเฉพาะจริงๆ ซึ่งบ้านเราเท่าที่ทราบยังไม่มีใครทำกัน หลายๆ คนจึงคาดกันว่าการอ้างถึงเพิ่ม ocular blood flow นั้นเป็นเรื่องจริงหรือคิดกันไป