สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: Corneal Hysteresis

สาระน่ารู้จากหมอตา

ค่าของความดันตาที่วัดได้ออกมาเป็นตัวเลขที่จับต้องได้ เป็นค่าที่ใช้วินิจฉัยรักษาและติดตามการรักษาภาวะต้อหินมานาน ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่ายกว่าที่จะนำค่าของขนาด disc cupping หรือลานสายตาที่เสียไปมาอธิบาย มาระยะหลังมีผู้สังเกตพบว่าเครื่องมือวัดความดันตาที่เป็นมาตรฐานใช้กันอยู่นั้น (applanation tonometry) ยังไม่เที่ยงตรงนัก ในกรณีที่ความหนาของกระจกตาต่างๆ กัน โดยพบว่าเครื่องมือที่วัดความดันตาจะแม่นยำตรงกับความจริงนั้น กระจกตาควรมีความหนา 520 ไมครอน โดยพบว่าค่าของความหนาที่เปลี่ยนจาก 520 ไมครอนทุก 100 ไมครอน ความดันตาจะเปลี่ยนไป 7 มม.ปรอท กล่าวคือ ถ้าหนามากกว่า 520 ไมครอนไปเป็น 620 ไมครอน ความดันตาที่วัดได้จากเครื่องจะมากกว่าความจริงไป 7 มม.ปรอท กล่าวคือ ถ้าอ่านได้ 27 มม.ปรอท ความจริงความดันตาเป็น 27 – 7 หรือ 20 มม.ปรอท ในปัจจุบันเมื่อวัดความดันตาแล้ว ควรจะวัดความหนาของกระจกตาด้วยเพื่อประเมินค่าของความดันที่แท้จริง

ในระยะหลัง มีผู้พบว่านอกจากความหนาของกระจกตาแล้ว ความยืดหยุ่นของกระจกตาน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องและช่วยในการติดตามผู้ป่วยต้อหิน เพราะในกรณีกระจกตาที่หนาเท่ากัน ระหว่างกระจกตาที่เป็นแผลเป็นกับกระจกตาที่บวมน้ำ ความยืดหยุ่นย่อมแตกต่างกัน (แม้ว่าจะหนาเท่ากัน) ค่าของความยืดหยุ่นของกระจกตาเรียกกันว่า corneal hysteresis (CH) ในปัจจุบันมีเครื่องมือที่เรียกว่า Ocular response analyzer (ORA) โดยอาศัยหลักการที่ว่าเป่าลมไปยังกระจกตาด้วยแรงดันหนึ่งที่ทำให้กระจกตาแบนลง วัดความดันตาที่ได้เป็น P1 และ วัดความดันตา P2 เมื่อกระจกตาเริ่มกลับสู่สภาพเดิม ค่าของ CH เกิดจาก P1 – P2 ค่า CH ถ้าต่ำมักพบในกระจกตาที่อ่อน เช่น ภาวะ corneal ectasla , keratoconus , Fuch corneal dystrophy ตลอดจนตาที่ทำ Lasik มาแล้ว กล่าวคือ กระจกตายิ่งบางยิ่งมีค่า CH ต่ำ ค่า CH ที่ต่ำเชื่อว่าทำให้ชั้นนอกของลูกตา (cornea + sclera) อ่อนไหว รวมไปถึงบริเวณ lamina cribrosa (บริเวณ sclera ที่เส้นประสาทตาทะลุออกจากลูกตา) จึงมีการเปลี่ยนแปลงง่ายทำให้เส้นประสาทถูกทำลายง่าย นั่นคือ ค่า CH ที่ต่ำจะทำให้เส้นประสาทเสียมากกว่าตาที่มี CH สูง ในกรณีที่ความดันตาเท่ากัน หรือในผู้ป่วยบางรายความดันตาไม่สูงแต่เพราะมีค่า CH ที่ต่ำจึงทำให้ภาวะต้อหินทรุดลงได้ นั่นคือ ผู้ป่วยในกลุ่ม normal หรือ low tension glaucoma ค่าเหล่านี้อาจจะนำมาใช้พิจารณาการวินิจฉัย ตลอดจนให้การรักษาที่ดียิ่งขึ้น ถ้าได้มีการวิจัย การผลิตเครื่องมือว่ามีประโยชน์และจำเป็นมากขึ้นในภายภาคหน้า