สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: แว่นกันแสง

สาระน่ารู้จากหมอตา

แต่เดิมทีแว่นตาที่เป็นเลนส์กันแสงหรือซับแสงหรือกันแดด เริ่มมีใช้ในอเมริการาว ค.ศ. 1885 โดยใช้ในการแพทย์เพื่อปกป้องหรือรักษาในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเหล็ก นักสำรวจขั้วโลก คนตาบอด คนที่มีอาการปวดเมื่อยตา แสบตา ในเวลาต่อมาการใส่แว่นชนิดนี้แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีแดดแรง เป็นการใส่เพื่อลดแสงจ้า ลดข้อเสียจากรังสีจากแสงอาทิตย์/แสงแดด ที่ให้โทษต่อตา ได้แก่ รังสี UV และ blue จนมาระยะหลังใส่แว่นกันแดดกลายเป็นแฟชั่นมากกว่าใส่เพื่อปกป้องลูกตา การใช้แว่นชนิดนี้มี 2 หลัก คือ มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

ก.ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ได้แก่

  1. มีโรคตา โดยเฉพาะผู้มีโรคตาส่วนหน้า ได้แก่ โรคของเยื่อบุตา กระจกตา และม่านตา โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการที่สำคัญ คือ กลัวแสง (photophobia) ซึ่งชาวบ้านอาจเรียกกันว่าตาไม่สู้แสง การใส่แว่นลดแสงที่เข้าตาลงจะช่วยให้สบายตาขึ้น โดยแว่นนี้จะลดทั้งแสงที่มองเห็นด้วยตาและแสงที่มองไม่เห็น แม้บางรายมีแผลเป็นที่กระจกตา มีการอักเสบเล็กน้อยหลังการติดเชื้อไวรัส (subepithelial keratitis) การใช้แว่นกันแสงช่วยให้สบายตาและมองเห็นดีขึ้น
  2. ภาวะ hereditary retinal dystrophy เป็นการเสื่อมก่อนเวลาอันควรของจอตาชนิดที่เป็นกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยที่มีปัญหากลุ่มนี้มักจะมีอาการแพ้แสง การใช้เลนส์แว่นตาที่ซับแสง คลื่นต่ำกว่า 550 nm รวมทั้งแสง UV และ infrared จะทำให้ผู้ป่วยสบายตาขึ้น บางคนเชื่อว่าการใส่แว่นกันแสง อาจจะชลอมิให้จอตาเสื่อมลงเร็วด้วย
  3. ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยรังสี UV ในโรคต่างๆ เช่น ผู้ป่วยโรคผิวหนังด่างขาว (vitiligo) โรค psoriasis ตลอดจนผู้ที่รับการฉายแสงจากภาวะ hyperbilirubinemia ควรจะสวมแว่นกันแสง UV โดยเฉพาะถ้าเป็นจำพวกหน้ากากซึ่งจะกันรังสี/แสงทางด้านข้างได้ด้วยยิ่งดีกว่า
  4. ผู้ที่เป็นต้อกระจก การใช้แว่นกันแสงอาจทำให้ม่านตาไม่หดเมื่อถูกแสง ทำให้ตามัวน้อยกว่าไม่ใส่แว่น
  5. ผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้อกระจกใหม่ๆ ผู้ป่วยมักมีอาการแพ้แสงจากการอักเสบเล็กๆ น้อยๆจากการผ่าตัด อีกทั้งแต่เดิมที่ผู้ป่วยมีต้อกระจกที่บังแสงอยู่ เมื่อเอาต้อออกดูเหมือนแสงจะเข้าตามากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมักจะรับรู้ถึงแสงจ้ามากหลังทำผ่าตัด การใส่แว่นกันแสงในระยะแรกๆ หลังผ่าตัดจะช่วยให้สบายตายิ่งขึ้น
  6. ในเด็กทั่วไปทนต่อแสงจ้าได้ดีมักจะไม่มีปัญหา ยกเว้นในกรณีที่ต้องไปยังสถานที่ที่มีแสงจ้ามาก เช่น ชายหาด ขึ้นที่สูง การใช้แว่นนี้อาจจะจำเป็น อีกประการหนึ่งเด็กที่มีความผิดปกติทางตาบางอย่างแต่กำเนิด เช่น คนเผือก ภาวะไม่มีม่านตา (aniridia) เด็กภาวะ monochromatopsia เด็กกลุ่มนี้ตามักไม่สู้แสง ชอบแอบซุกในที่มืด การใช้แว่นกันแดดน่าจะช่วย
  7. ผู้ที่ได้รับการหยอดยาขยายม่านตา อาจจะเพื่อการตรวจจอประสาทตาหรือเพื่อการรักษาม่านตาที่ขยาย ทำให้แสงจ้าเข้าตามาก

ข. การใส่แว่นกันแดดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

  1. อาการไม่สบายตาจากแสงซึ่งประกอบด้วย
    1. แสงที่สว่างมาก (intensity) ถ้าที่มีแสงมาก (contrast จะลด) ทำให้ไม่ใช่ภาพอย่างเดียวที่ถูกโฟกัสแต่จอตารวมๆ ก็ถูกโฟกัสด้วย จึงทำให้ภาพไม่เด่นนั่นคือ contrast น้อย ภาพจะไม่ชัด การใส่แว่นกันแดดจะลดแสงที่เข้าตาลง จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น อีกทั้งแสงที่จ้ามากทำให้รูม่านตาหดมาก บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะได้เพราะกล้ามเนื้อที่ใช้หดรูม่านตา ทำงานมาก
    2. Glare เป็นแสงที่รบกวนเรา ซึ่งอาจเกิดจากเป็นแสงสะท้อน (reflex glare) หรือแสงกระจาย (scatter) ถ้าเป็นแสงสะท้อน เช่น แสงตกบนหนังสือหรือพื้นโต๊ะแล้วมีบางส่วนสะท้อนกลับเข้าตาเรา ซึ่งสามารถแก้ไขโดยปรับทิศทางของแสงที่ส่องมายังโต๊ะหรือใช้พื้นโต๊ะที่ไม่สะท้อนแสง ซึ่งในกรณีนี้แว่นกันแสงอาจไม่ช่วยแต่แว่น Polaroid อาจช่วยได้บ้าง สำหรับแสงกระจายการใช้แว่นกันแสงที่ทำสีที่เหมาะสมจะช่วยได้
  2. กิจกรรมกลางแจ้งที่สว่างจ้า เช่น นักเทนนิส ตีกอล์ฟ นักตกปลา เล่นสกี ฯลฯ แว่นกันแสงน่าจะเป็นสิ่งจำเป็น
  3. อาชีพบางอย่าง เช่น อยู่หน้าเตา อยู่ในห้องปฏิบัติการ ห้องเลเซอร์ ช่างเชื่อม ควรจะมีแว่นกันแสงเฉพาะปกป้องดวงตา ช่างอัดรูปควรใช้หน้ากากแดง เพื่อให้ตาอยู่ในภาวะ dark adapt ตลอดเวลาทำงานไม่ต้องเสียเวลาให้ตาปรับกับความมืด ผู้ทำงานทั้งกลางแจ้งและเปลี่ยนมาที่ร่มในเวลาเดียวกัน ควรใช้แว่นกันแสงชนิดเปลี่ยนสี (photochromic)
  4. เพื่อความสวยงาม ใช้แว่นชนิดนี้ปกปิดรอยที่ไม่สวยงาม
  5. แสงสะท้อนในเวลากลางคืน จากไฟรถที่สวนหรือไฟข้างถนน การใช้แว่นที่ทำ Anti reflecting coat (AR) ก็เพียงพอ ดีกว่าใช้เลนส์สีเพราะทำให้มัวลงด้วย เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ
  6. ประชาชนในเขตร้อนที่แสงแดดจ้า มีทั้งรังสี UV แสงสีฟ้า ที่อาจทำให้จอตาเสื่อมลง การใส่แว่นกัน UV กันแสงจ้าน่าจะเป็นประโยชน์