สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: จอตาขาด (Retina break)

สาระน่ารู้จากหมอตา

จอตาถือเป็นส่วนแรกของประสาทรับรู้การเห็น มีเซลล์รับรู้การเห็น (photoreceptor) ซึ่งเห็นวัตถุแล้วส่งกระแสประสาทไปตามใยประสาท (nerve fibre) ไปสู่ประสาทตา (optic nerve) ทั้งเซลล์รับรู้การเห็นและใยประสาทตาเป็นส่วนหนึ่งของจอตา ตัวจอตาจะแนบไปกับลูกตาด้านใน หากนึกภาพลูกตาเป็นรูปทรงกลมคล้ายลูกมะพร้าว ตาขาวเป็นเสมือนเปลือกนอกสุดของลูกมะพร้าว ชั้นกลางหรือชั้นกะลามะพร้าวเป็นขั้วกลางของลูกตา (ในตาเป็นชั้น uvea ที่ทำหน้าที่นำเลือดมาเลี้ยงลูกตา) ชั้นในสุดเป็นเนื้อมะพร้าวซึ่งตรงกับชั้นในสุดของตา คือ จอตา เนื้อมะพร้าวจะแนบติดกับกะลา โดยน้ำมะพร้าวจะช่วยดันให้เนื้อมะพร้าวแนบกับกะลามะพร้าว เช่นเดียวกับน้ำวุ้นตาจะดันจอตาให้ติดกับชั้นกลางและชั้นนอกของลูกตา จอตาแนบกับลูกตาชั้นกลางและชั้นนอกได้จากทั้งน้ำวุ้นดัน ความดันภายในลูกตาตลอดจนการทำงานของจอตาส่วนนอกที่คอยยึดให้จอตาแนบแน่นกับชั้นกลางของลูกตา หากเกิดภาวะใดที่ทำให้จอตาขาดด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น จอตาฝ่อบางลงๆ แล้วขาดหายเป็นหย่อมๆ หรือน้ำวุ้นเกิดแรงดึงจากการเสื่อมของน้ำวุ้นกระตุกจอตาให้ขาด หรือแม้แต่อุบัติเหตุทำให้จอตาขาดได้ โดยสรุปจอตาควรจะเป็นผืนต่อเนื่องแนบไปกับลูกตา หากมีรอยแยกมีรูที่บริเวณใดถือเป็นรอยขาดของจอตาทั้งสิ้น

จอตาขาดมีความสำคัญอย่างไร มีการพูดถึงและตรวจพบการขาดของจอตาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1853 หลังจากมีการประดิษฐ์เครื่องตรวจจอตา (ophthalmoscope) และในปี 1870 มีคนอธิบายว่า จอตาขาดน่าจะมีความสัมพันธ์กับจอตาหลุดลอก และในปี ค.ศ. 1921 Gonin ได้ข้อสรุปว่าจอตาขาดทำให้จอตาหลุดลอกโดยแสดงให้เห็นว่า การปิดรอยขาดของจอตา ทำให้จอตาที่หลุดลอกกลับเข้าที่ได้ กล่าวคือ เมื่อมีจอตาขาดบริเวณใดบริเวณหนึ่ง น้ำวุ้นตาบางส่วนอาจแทรกเข้าไปอยู่ใต้จอตาผ่านบริเวณที่ขาด ประกอบกับการกลอกตาไปมา จึงดันให้จอตาหลุดลอกออกมา เสมือนเซาะเนื้อมะพร้าวออกจากกะลา อย่างไรก็ตามลำพังจอตาขาดอย่างเดียวอาจไม่ก่อให้เกิดจอตาหลุดลอกเสมอไป โดยจากการตรวจตาในคนปกติทั่วไปมีรอยฉีกขาดได้ 6 – 14% ของประชากร แต่ผู้มีจอตาหลุดลอกมีเพียง 0.3% ดังนั้นจอตาฉีกขาดไม่ได้ทำให้หลุดลอกทุกคน น่าจะมีปัจจัยอื่นเสริมหรือจอตาที่ขาดควรจะมีลักษณะเฉพาะ หมอจึงต้องให้การตรวจและศึกษาลักษณะของการขาดว่าอย่างไรที่เป็นปัจจัยทำให้จอตาหลุดลอกออกมา

อาจแบ่งจอตาขาดออกเป็น

  1. จอตาขาดที่มีรอยฉีกชัดเจน (tear) มักจะเป็นรอยฉีกมีการดึงรั้งของน้ำวุ้นบริเวณที่จอตาขาด
  2. จอตาเป็นรู (hole) เป็นรอยขาดหายไปของจอตามักเป็นรูปกลมหรือรี ส่วนมากเกิดจากจอตาบริเวณนั้น เสื่อมบางลงๆ แล้วขาดหายไปโดยไม่เกี่ยวกับน้ำวุ้น ไม่มีการดึงรั้งของน้ำวุ้น
  3. จอตาหลุด (dialysis) เป็นบริเวณขอบของจอตาบริเวณ ora sesrata (ใกล้ตาขาวต่อตาดำ) มักเกิดจากอุบัติเหตุบริเวณลูกตา

กล่าวกันว่าโอกาสของจอตาหลุดลอกในกรณีที่มีจอตาขาด ควรจะมีปัจจัย 3 อย่าง ได้แก่

  1. จอตาที่ขาดเป็นชนิดขาดทุกชั้น (full thickness) มักจะเป็นจอตาขาดแบบมีรอยฉีก ที่เห็นชัดเป็นรอยฉีกรูปเกือกม้า (horse shoe tear)
  2. มีการดึงรั้งของน้ำวุ้นตาต่อจอตาบริเวณที่ขาด
  3. มีการไหลหรือขยับเขยื้อนของน้ำวุ้นใกล้บริเวณจอตาที่ขาด ทำให้น้ำวุ้นแทรกตัวไปใต้จอตาผ่านทางบริเวณจอตาที่ขาด

อย่างไรก็ตามสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีอัตราเสี่ยงของการเกิดจอตาขาดตามด้วยจอตาหลุดลอก ควรรับการตรวจหาจอตาขาด ได้แก่

  1. ผู้ที่เคยหรือได้รับอุบัติเหตุเป็นแรงกระแทก (blunt trauma) ที่ไม่ใช่จากของมีคม (ถ้าเป็นของมีคม ลูกตามักจะฉีกขาด จำเป็นต้องรับการดูแลรักษาทันทีอยู่แล้ว) สำหรับแรงกระแทกเบื้องต้น อาจดูว่าตาไม่เป็นไร แต่แรงกระแทกอาจทำให้จอตาขาดตามด้วยหลุดลอกได้ในเวลาต่อมา
  2. ผู้ที่มีตาข้างหนึ่งมีประวัติจอตาหลุดลอกมาแล้ว โอกาสที่ตาอีกข้างจะหลุดลอกมีถึง 35% ในตาที่ลอต้อกระจกแล้ว และ 10% ในตาที่ยังไม่ได้ทำผ่าตัดต้อกระจก ผู้ที่เคยมีจอตาหลุดลอกข้างหนึ่ง หากพบจอตาขาดแม้จะไม่มีอาการอื่นควรจะต้องรับการรักษา
  3. ตาที่เคยผ่าตัดต้อกระจกไม่ว่าจะฝังหรือไม่ฝังแก้วตาเทียม มีโอกาสจอตาลอกกว่าคนปกติ
  4. ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก มากกว่า -6.0D ขึ้นไป มีแนวโน้มจอตาลอกมากกว่าคนอื่น หากพบจอตาขาดควรรับการรักษา
  5. ผู้มีอาการของน้ำวุ้นตาเสื่อม ได้แก่ ผู้ที่มีอาการเห็นจุดดำลอยไปมา (floater) ตลอดจนเห็นแสง หรือเห็นแสงคล้ายฟ้าแลบ (photopsia) ควรรับการตรวจว่ามีจอตาขาดที่เสี่ยงต่อจอตาหลุดลอกหรือไม่ ได้มีผู้ศึกษาพบว่าผู้ที่มีอาการของ floater มีโอกาสพบจอตาขาด 5% ผู้ที่มีอาการ floater ร่วมกับเห็นแสง มีโอกาสพบจอตาขาด 13% และผู้ที่มีอาการเห็นแสงอย่างเดียว มีโอกาสพบจอตาขาด 12% และในผู้ที่มีอาการ floater หรือเห็นแสง หากตรวจพบ เซลล์ในน้ำวุ้นมีจุดดำลอยไปมามากมาย มีเลือดออกในน้ำวุ้นหรือหน้าต่อจอตา มักจะมีจอตาขาดซึ่งควรรับการตรวจอย่างละเอียด และอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยแสงเลเซอร์ป้องกันการหลุดลอกของจอตา

เมื่อพบจอตาขาดและมีปัจจัยเสี่ยงต่อจอตาหลุดลอก ควรรักษาโดยการอุดรอยขาดด้วย

  1. ใช้แสงเลเซอร์ที่เรียกว่า laser retinopoxy โดยการใช้แสงเลเซอร์ยิงไปรอบๆ จอตาที่ขาด อาจจะยิงล้อมรอบไว้ 3 – 4 แถว เมื่อยิงเลเซอร์จะเกิดปฏิกิริยาทันที ทำให้จอตายึดแน่นกับชั้นกลางของลูกตา โดยจะมีปฏิกิริยามากสุด คือติดแน่นในเวลา 7 – 10 วันต่อมา จึงควรระมัดระวัง รออย่างน้อย 7 – 10 วัน จึงจะใช้ตาได้ตามปกติ เป็นวิธีที่ทำกันมากสุด เพราะสะดวกไม่เจ็บปวด ไม่ต้องฉีดยาชา ไม่มีการเสียเลือด อาจเพียงหยอดยาชาช่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องหยุดพักงาน สามารถทำงานได้ตามปกติทันทีหลังรับการรักษา
  2. Cryopoxy ใช้จี้ด้วยความเย็นผ่านเยื่อบุตา ตาขาว ข้างนอก มักใช้ในกรณีที่ media ไม่ชัด คือตรวจจอตาได้ไม่ชัดเจน เพราะทางที่แสงผ่านขุ่นมัวอีกทั้งแสงเลเซอร์อาจไปถึงบริเวณที่ต้องการไม่ดีนัก เพราะภาวะขุ่นมัวดังกล่าว เช่น มีต้อกระจก มีเลือดในน้ำวุ้น บังแสงอยู่ วิธีนี้จะไม่เกิดปฏิกิริยาทันที ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  3. การผ่าตัด scleral buckling ใช้ในรายที่จอตาขาดขนาดใหญ่ (giant tear) ที่มีแนวโน้มจอตาหลุด หรือในผู้มีแนวโน้มจอตาหลุดลอกสูง จากการดึงรั้งของน้ำวุ้นรุนแรง ซึ่งคาดว่าการใช้แสงเลเซอร์หรือความเย็น ข้อ1 และ 2 อาจไม่เพียงพอ