สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ความดันตาสูง ทำอย่างไรดี

สาระน่ารู้จากหมอตา

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อน หลายๆคนเข้าใจว่าความดันตาสูงก็คือต้อหิน หรือต้อหินเป็นคำเดียวกับความดันตาสูง ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ ความดันตาสูง มีความสัมพันธ์กับต้อหิน กล่าวคือ ความดันตาสูงเป็นปัจจัยเสื่ยงหนึ่งของการเกิดต้อหินร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายปัจจัย และความดันตาสูงก็ไม่ใช่ต้อหิน

ต้อหิน เป็นการสูญเสียของประสาทตา เป็นเหตุให้มีลานสายตาผิดปกติ ขาดหายไปบางหย่อม ตามด้วยสายตามัวลงๆ จนในที่สุดถึงขั้นตาบอด โดยที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จับต้องได้อันหนึ่ง คือความดันตา อีกทั้งมีการตรวจพบใยประสาทตา (optic nerve fibre) ค่อย ๆถูกทำลายหายไป ทำให้มีลานสายตาผิดปกติที่เฉพาะ ต่างจากลานาสายตาผิดปกติที่พบในโรคหรือภาวะอื่น ดังนั้น ถ้าความดันตาสูง แต่ไม่มีการสูญเสียของประสาทตา ก็ไม่ใช่ต้อหิน เป็นความดันตาสูง แต่ถ้าความดันตาปกติ แต่มีการสูญเสียของประสาทตา ถือว่าเป็นต้อหินชนิด low tension glaucoma การตรวจและติดตามสถานะของโรคต้อหิน หรือผลการรักษาจึงต้องใช้ทั้งลานสายตา ขั้วประสาทตา (บ่งถึงการสูญเสียของใยประสาท) และความดันตา ทั้ง 3 ประการ ด้วยเหตุที่ความดันตาเป็นตัวเลขที่จับต้องเข้าใจง่าย หลาย ๆ คนจึงเข้าใจกันว่า ต้อหินคือความดันตาสูง ดังนั้นความดันตาสูงอย่างเดียวจึงไม่ใช่ต้อหิน

แล้วจะทำอย่างไรกับภาวะความดันตาสูงหล่ะ อย่าว่าแต่ผู้ป่วยเลย แม้หมอตา/จักษุแพทย์เองก็ยังลังเลใจว่า จะให้การรักษาอย่างไรดีกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ หากให้การรักษาเสมือนหนึ่งว่าเป็นต้อหิน จำเป็นต้องใช้ยาตลอดชีวิต ซึ่งแน่นอนต้องมีค่าใช้จ่าย ค่ายา อาจมีผลข้างเคียงจากยาหยอดต่าง ๆ อีกทั้งเป็นภาระของผู้ป่วยด้วย หากไม่ทำอะไรแล้วผู้ป่วยกลายเป็นต้อหินอย่างสมบูรณ์ มีการสูญเสียสายตาอย่างช้า ๆ ทำให้รู้สึกผิด

ได้มีกลุ่มจักษุแพทย์ ทำงานวิจัยจากหลาย ๆ ศูนย์รักษาตา (multi center study) เรียกกันว่า Ocular hypertension study group (OHTS) ได้ผลว่าหากรับการรักษา โดยใช้ยาหยอดลดวามดันตาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีผลทำให้กลายเป็นต้อหินโดยสมบูรณ์ (5%) น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่รับการรักษา (10%) ในเวลาต่อมาประมาณว่าไม่รักษาสูญเสียสายตาบางส่วนเป็น 2 เท่าของผู้ได้รับการรักษา บางคนอาจคิดว่าจาก 10 % ลดมาเหลือ 5% เป็นตัวเลขไม่มากนัก ปล่อยให้มีการสูญเสียสายตาไปบ้างค่อยรักษา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ศึกษาได้หาปัจจัยเสี่ยงที่ควรจะทำให้การรักษาไว้ ได้แก่

  1. ผู้สูงอายุ อายุยิ่งมากโอกาสมากขึ้น
  2. ความดันตาที่สูงมาก เช่น 30, mnHg ขึ้นไป
  3. ขนาดของ cup disc ในการตรวจขั้วประสาทที่ค่อนข้างใหญ่
  4. ค่าของ PSD (pattern standard deviation) ที่สูง (ดูจากการตรวจลานสายตา)
  5. กระจกตาบาง ด้วยการวัดความดันตาด้วยเครื่องในปัจจุบัน หากกระจกตาบางจะได้ค่าความดันตาที่น้อยกว่าความเป็นจริง เมื่อกระจกตาบางแล้วยังมีค่าความดันตาที่สูง ค่าความดันตาที่เป็นจริงคงจะยิ่งสูง

หากพบว่ามีความดันตาสูง โดยยังไม่เป็นต้อหิน ควรสอบถามหรือตรวจปัจจัยเสี่ยงทั้ง 5 ข้อ หากพบ ก็น่าจะได้รับการรักษาหรือทำตามคำแนะนำของแพทย์

โดยสรุปคำนิยามต่าง ๆ เกี่ยวกับต้อหิน (glaucoma) ต้องมีการสูญเสียของเส้นประสาทตา (nerve fire) ทำให้ลานสายตาผิดปกติ จะมีความดันตาสูง ความดันตาปกติ หรือความดันตาต่ำกว่าปกติก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบและมักจะมีความดันตาสูงกว่าปกติ

ความดันตาสูง (ocular hypertension) มีแต่ค่าความดันตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนปกติ (มากกว่า 20 มม.ปรอท) โดยเส้นประสาทตาและลานสายตายังปกติ

ต้อหินที่ความดันตาไม่สูง อาจเรียกว่า normal tension glaucoma หรือ low tension glaucoma