สาระน่ารู้จาหหมอตา ตอน: การป้องกันต้อกระจก

โรคต้อกระจก มีความสำคัญที่ทำให้ประชากรในโลกนี้ตาบอด พบในคนสูงอายุ ใน ส.ร.อ.(สหรัฐอเมริกา) มีการลอกต้อกระจกมากกว่า 1.5 ล้านตาต่อปี เป็นสาเหตุตาบอดที่สำคัญของผู้สูงอายุของคนทั่วโลกรวมทั้งประเทศเรา แม้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่เป็นความเสื่อมของแก้วตาตามอายุ แก้ไขไม่ได้ แต่ยังมีรายงานพบปัจจัยเสี่ยงทำให้แต่ละคนเป็นต้อกระจกเร็วหรือช้าต่างกัน ประมาณกันว่าในโลกนี้มีคนตาบอดจากต้อกระจก 17 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปี ค.ศ. 2020 หากการให้การรักษายังเป็นแบบทุกวันนี้ เพราะต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมของแก้วตาตามอายุ ในปัจจุบันคนอายุยืนขึ้นจึงพบต้อกระจกได้มากขึ้น

โรคต้อกระจก แม้จะไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่แน่นอนคุณภาพของชีวิตลดลง จากข้อจำกัดด้านการมองเห็น ความคล่องตัวในการไปไหนมาไหนลดลง บางคนอาจไม่สามารถขับรถได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพที่เคยทำได้ ตลอดจนอาจได้รับอันตรายจากความบกพร่องของการเห็น บางคนอาจมีปัญหาทางสังคม ทำให้ต้องงดหรือลดภาระกิจต่างๆ บางคนมีอาการซึมเศร้า ก่อให้เกิดภาวะทางจิตได้

เป็นที่ทราบกันดี หากต้อกระจกเป็นมากขึ้น ต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดลอกต้อร่วมกับฝังแก้วตาเทียม ผลของการผ่าตัดได้ผลเป็นที่น่าพอใจของผู้ป่วยส่วนใหญ่ เป็นการผ่าตัดที่คุ้มค่าดีมากวิธีหนึ่ง

แม้ว่าต้อกระจกส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ แต่มีการสังเกตจากหมอหลาย ๆ ท่านที่พบต้อกระจกได้เร็วกว่าคนปกติในบางสภาวะ อันเป็นที่มาของการป้องกันต้อกระจก แม้จะไม่ได้ผลยืนยันเป็นที่แน่ชัดลงไปว่าป้องกันได้ แต่เชื่อว่าอาจชะลอลงได้บ้าง ตามข้อสังเกต ดังนี้

  1. การสูบบุหรี่ มีการศึกษาหลายอันยืนยันว่า จำนวนการสูบบุหรี่ยิ่งมาก เกี่ยวข้องกับเป็นต้อกระจกในอายุที่น้อยลงและลุกลามรวดเร็วกว่าคนไม่สูบบุหรี่
  2. เหล้า หากดื่มมากกระตุ้นให้เกิดต้อกระจก แต่มีการศึกษาบางอันพบว่าดื่มน้อย ๆ อาจป้องกันหรือชะลอต้อกระจกได้
  3. รังสียูวี(UV) โดยเฉพาะการได้รับ UV B เป็นเวลานาน มีการยืนยันว่าเป็นเหตุทำให้เกิดต้อกระจกได้
  4. ภาวะเบาหวาน มีหลักฐานยืนยันผู้ป่วยเบาหวานจะพบต้อกระจกในอายุที่น้อย โดยเฉพาะเกี่ยวกับเวลาที่เป็นเบาหวานนาน ๆ และการควบคุมเบาหวานไม่ดี
  5. เศรษฐานะ มีหลายรายงานบ่งว่าผู้ที่เศรษฐกิจไม่ดี ยากจน จะพบต้อกระจกในอายุที่น้อยกว่า
  6. ความดันโลหิตสูง ไม่เป็นที่ยืนยัน มีบางคนรายงานว่า ความดันตัวล่าง (diastolic blood pressure) ถ้าสูงเสี่ยงต่อต้อกระจก
  7. ค่า BMI (Body mass index: ดัชนีมวลกาย) รายงานที่มี ยังขัดแย้งกัน บ้างว่าเกี่ยวข้อง บ้างก็ว่าไม่
  8. ยาที่ใช้ประจำ เป็นที่ยืนยันว่าการใช้ steroid(สเตียรอยด์) นาน ๆ ทำให้เกิดต้อกระจก ยังมียาตัวอื่นที่มีรายงานว่าทำให้เกิดต้อกระจก ได้แก่ ยารักษา gout (โรคเกาต์) , ยา phenothiazine (ยาคลายเครียด) เป็นต้น

ยาและอาหาร

อนึ่ง หันมาดูถึงอาหารหรือยาอะไรที่ป้องกันการเกิดต้อกระจกกันบ้าง

  1. วิตามินรวม มีคนศึกษาพบว่า การได้รับวิตามินรวมเป็นประจำ จะชะลอการเป็นต้อกระจก โดยเฉพาะวิตามินที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
  2. ภาวะโภชนาการ พบต้อกระจกในประชากรในประเทศที่มีภาวะทุโภชนาการในอายุที่น้อยกว่าปกติ จึงเชื่อว่า ภาวะโภชนาการที่ดี ทำให้สุขภาพร่างกายทั่วไปดี เกิดต้อกระจกช้ากว่า
  3. ในปัจจุบัน เชื่อว่าโรคหลาย ๆ โรคที่พบในคนสูงอายุ ที่เรากล่าวกันว่าเป็นภาวะเสื่อมตามอายุนั้น ได้มีงานวิจัยพบว่าเซลล์ร่างกายเราที่เสื่อมเพราะมีสารอนุมูลอิสระเข้าไปทำลาย การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยชะลอความเสื่อมลง แต่ในเรื่องต้อกระจกยังไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดว่า ชะลอต้อกระจกได้ เราคงไม่จำเป็นต้องหาซื้อยา หรืออาหารเสริมต้านอนุมูลอิสระให้สิ้นเปลือง เพียงรับประทานอาหารที่ถูกส่วน หรือที่มีสารต้านอนุมูลอิสระให้เพียงพอ เช่น วิตามิน A ในพืชผักสีเหลือง, วิตามิน E ในอาหารจำพวกถั่ว เมล็ดทานตะวัน,ไวตามิน C ในส้ม น้ำองุ่น มะละกอ พริกเขียว, สำหรับ Lutein และ Zeaxanthin ที่บางคนเชื่อว่าป้องกันต้อกระจกได้ พบในผักบรอคเคอรี, ถั่วเขียว เป็นต้น
  4. ยา Aspirin ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่า ชะลอต้อกระได้ ด้วยเหตุที่พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่หมอให้รับประทาน aspirin เป็นประจำ เพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว พบปัญหาของต้อกระจกน้อยกว่าคนไม่ได้ทานยา จนมี slogan ว่า “aspirin one tablet a day keep cataract away” แต่เมื่อมีการศึกษาอย่างจริงใจ พบว่า ไม่ได้ชะลอต้อกระจกแต่อย่างใด
  5. ยา ฮอร์โมน/Hormone ที่ชดเชยในหญิงวัยทอง ครึ่งหนึ่งพบว่าสามารถชะลอต้อกระจกได้ ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริง

สรุป

การดูและสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ซึ่งสะท้อนให้สุขภาพตาดีด้วย มีภาวะโภชนาที่ปกติ หลีกเลี่ยงบุหรี่ เหล้า ห่างไกลรังสี UV น่าจะชะลอการเป็นต้อกระจกลงได้บ้าง