สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน:การแก้ไขภาวะเห็นภาพซ้อน (Binocular diplopia correction)

ภาวะเห็นภาพซ้อน(diplopia) หมายถึง การเห็นภาพเดียวหรือวัตถุอันเดียวข้างหน้าเป็น 2 ภาพหรือเป็น 2 สิ่ง เป็นได้ทั้งเกิดจากตาข้างเดียว (monocular diplopia) หมายถึง เมื่อใช้ตาเดียวมองภาพ (โดยปิดตาอีกข้าง) เห็นภาพหนึ่งภาพข้างหน้าเป็น 2 ภาพ ภาวะนี้มักเกิดจากการหักเหของแสงผ่านส่วนต่างๆ ของลูกตาไปโฟกัสที่จอตาไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้แสงจากวัตถุอันเดียวไปตกจอตาที่ต่างกัน เกิดเป็น 2 ภาพขึ้น มักเกิดจากภาวะต่างๆ เช่น สายตาเอียง สายตาผิดปกติ เริ่มเป็นต้อกระจก แก้วตาเคลื่อนที่มีความผิดปกติของกระจกตา ภาวะกระจกตาย้อย (keratoconus) เป็นต้น

สำหรับ Binocular diplopia หมายถึงการเห็นภาพหนึ่งภาพ ขณะใช้ตา 2 ข้าง พร้อมกันเป็น 2 ภาพ แสดงถึงแสงจากวัตถุตกที่ fovea ของจอตาทั้ง 2 ข้าง ก็จริง แต่ไม่มีความสัมพันธ์กัน เสมือนหนึ่งมีภาพ 2 ภาพอยู่ต่างที่กัน มักเกิดจากการกลอกตาหรือการทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตาในตา 2 ข้างไม่สอดคล้องกัน อาจเกิดจากมีความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อ หรือตัวกล้ามเนื้อบางมัดมีการทำงานบกพร่อง โดยสรุปภาวะ monocular dipdopia มักเกิดจากความผิดปกติในตาส่วน binocular displopia เกิดจาก

  1. ผิดปกติในสมองที่ควบคุมกล้ามเนื้อกลอกตา (ได้แก่ เส้นประสาทสมองที่ 3, 4, 6) จากโรคของสมอง
  2. โรค myasthenia gravis ทำให้กล้ามเนื้อกลอกตา ทำงานไม่ปกติ
  3. โรคของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้กล้ามเนื้อตาบางมัดทำงานผิดปกติ
  4. โรคเบาหวาน ทำให้กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาตบางมัด
  5. ได้รับอุบัติเหตุทำให้เบ้าตาแตก กระทบกระทั่งกล้ามเนื้อตาบางมัด
  6. มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา ทำให้เกิดภาวะตาเข ในบางรายจะมีอาการ diplopia ได้ โดยเฉพาะในภาวะ intermittent squint
  7. ภาวะ convergence insufficency เป็นความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อตาเวลามองใกล้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมี dipplopia เวลามองใกล้นาน ๆ
  8. มีสายตา 2 ข้างที่ต่างกัน

ฯ ล ฯ

อนึ่ง เมื่อเกิดภาวะ binocular diplopia จะก่อให้เกิดความรำคาญ สับสน มึนงง รบกวนการใช้สายตา บางท่านอาจจะปวดศีรษะทำงานไม่ได้เลย การแก้ไขภาวะ diplopia ต้องเริ่มหาสาเหตุก่อน ถ้าเป็นจากกล้ามเนื้ออัมพาตจากสาเหตุต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น ต้องหาและรักษาต้นเหตุก่อนเสมอ แล้วตามด้วยการแก้ไขเฉพาะหน้าลดภาวะ diplopia

วิธีแก้ไขภาวะเห็นภาพซ้อน

ซึ่งจักษุแพทย์จะทำให้ด้วยวิธีหลัก 2 วิธี

  1. ช่วยให้ผู้ป่วยรวมภาพ 2 ภาพ จากตา 2 ข้างเข้าด้วยกัน (ให้ใช้ตา 2 ข้างร่วมกัน) เรียกว่าให้มี Fusion
  2. ให้ผู้ป่วยใช้ตาเดียว ให้มี monocular vision จึงขจัดภาพจากตาอีกข้างออกไป

การรักษาวิธีที่ 1 :

อาจทำได้โดย

  • ใช้วิธีฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ทำได้ในบางภาวะ เช่น ภาวะ convergence insufficency หรือภาวะตาเขซ่อนเร้น (heterophoria)
  • ภาวะ diplopia บางรายเกิดจากสายตา 2 ข้าง ต่างกัน แก้ไขโดยการใช้แว่นปรับสายตาหรือร่วมกับในบางรายถ้ามีตาเขออกบางครั้ง (intermitlent exotropia) การแก้ด้วยแว่นสายตามากกว่าจริง (over correction of myopia) จะทำให้ภาวะ exotropia ลดลงหรือหายไปได้
  • ใช้ prism ในแว่นตา เบี่ยงเบนภาพในตา 2 ข้างให้มาชิดกัน
  • การฉีด Botox ในกล้ามเนื้อตรงข้ามกับมัดที่อัมพาต ตลอดจนการใช้ยารักษาภาวะ myasthenia gravis ให้กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงมีกำลังดีขึ้น
  • การผ่าตัด มักจะใช้เมื่อรักษาสาเหตุแล้ว หรือรอให้ขนาดของตาเขอยู่คงที่แล้ว อาจผ่าตัดกล้ามเนื้อตาแก้ไขได้

การรักษาวิธีที่ 2:

ให้ผู้ป่วยใช้ตาข้างเดียว โดย

  • ปิดตาข้างหนึ่ง อาจจะด้วยผ้าปิดตา วัตถุทึบแสงปิดที่เลนส์แว่นตาข้างหนึ่ง เป็นวิธีเบื้องต้นที่ใช้กันในรายที่มาด้วย binocular diplopia ที่สับสน มึนงง มีอาการมาก อาจจะปิดสลับข้างกันคนละวัน แต่ไม่ควรปิดตลอดเวลา เพื่อให้ตาพยายามมี fusion บ้างในขณะเปิดตา 2 ข้าง
  • ใช้แว่นตา อาจทำแว่นสายตามองไกลข้างหนึ่ง มองใกล้ข้างหนึ่ง ใช้ตาเดียวในแต่ละระยะ
  • แพทย์บางคนแนะนำให้ใส่ prism แต่วาง prism ไปในทางตรงข้ามกับวิธี Fusion คือวาง prism ทำให้ภาพ 2 ภาพ ห่างไกลกันออกไป ทำให้ผู้ป่วยกดภาพหนึ่งได้