สาระน่ารู้จากหมอตา: ตอน เบ้าตาและเนื้อเยื่อใกล้เคียง (Orbit and Periorbital Tissue)

เบ้าตา (Orbit):

เบ้าตา เป็นเสมือนช่องที่ให้ลูกตาคนเราที่เป็นรูปทรงกลมวางอยู่ โดยที่เบ้าตาประกอบด้วยกระดูกเบ้าตา ที่เป็นรูปกรวย ด้านหน้ากลม แล้วค่อยๆสอบแคบลงไปด้านหลังคล้ายปีระมิด โดยด้านหน้าที่เป็นช่องให้ลูกตาโผล่ออกมานั้นสูง 3.5 ซม. กว้าง 4.0 ซม. และสอบลึกลงไปยาว 4.5 ซม. ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด 7 ชิ้น ทำให้กระดูกเบ้าตาเป็นผนัง 4 ด้าน เบ้าตาทำหน้าที่ปกป้องดวงตาจากภยันตรายต่างๆ ที่อาจมากระแทกถูกดวงตา กระดูกเบ้าตาจะรับความแรงไว้ก่อน

อวัยวะข้างเคียงรอบๆ เบ้าตาประกอบด้วย

  1. สมอง อยู่บนกระดูกเบ้าตาส่วนบน ลึกลงไปข้างหลังเป็นแอ่งหลอดเลือดดำ cavernous sinus หากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อเบ้าตาอาจทะลุผ่านกระดูกเบ้าตาส่วนบนไปยัง cavenous sinus เข้าสูสมองได้
  2. ไซนัส(แอ่งเลือดดำ)ที่อยู่ในกระดูกเบ้าตาต่างๆ ที่การอักเสบของไซนัสอาจลุกลามไปที่เบ้าตาผ่านกระดูกเบ้าตาที่เป็นกระดูกที่บางได้ ดังนั้น เบ้าตาอักเสบส่วนมากเกิดจากเชื้อโรคที่ลามมาจากไซนัสอักเสบ
  3. ระบบน้ำตา ได้แก่ ต่อมสร้างน้ำตา/ต่อมน้ำตา (lacrimal gland) อยู่ตรงแอ่งด้านบนและด้านนอกของเบ้าตา และ ทางระบายน้ำตา (lacrimal drainage passage) ที่เริ่มจากรูเปิด (punctum) ที่หัวตาของเปลือกตา บน – ล่าง จากนั้นเป็นท่อ (canalicute) อยู่ในเนื้อเปลือกตาเข้าสู่ถุงน้ำตา (lacrimal sac) ที่ซ่อนอยู่ใต้กระดูกเบ้าตา (lacrimal bone) ไปตาม nasolacrimal duct ไปเปิดที่ inferior meatus ในโพรงจมูก
  4. เปลือกตา/หนังตา (eye lid) เป็นอวัยวะรอบเบ้าตาส่วนหน้าสุด หากเราหลับตา เปลือกตาจะป้องกันภยันตรายต่อดวงตาจากด้านหน้า

เนื้อเยื่อในเบ้าตา(Orbital soft tissue)

ลูกตา เป็นอวัยวะที่วางอยู่ในโพรงของกระดูกเบ้าตา ระหว่างลูกตาและกระดูกเบ้าตา จะมีเนื้อเยื่อต่างๆ ได้แก่

  1. กล้ามเนื้อตา ซึ่งมีทั้งหมดในตาข้างละ 6 มัด ได้แก่ กล้ามเนื้อตรง (recti) 4 มัด และกล้ามเนื้อเฉียง(oblique) อีก 2 มัด ทั้งหมดมาเกาะที่ลูกตาด้านนอก (sclera) นอกจากนี้ ยังมีกล้ามเนื้อที่ใช้ยกหนังตา คือ levator และ Muller muscle ที่เปลือกตาบน และ capsulo palpebral fascid และ inferior tarsus ที่เปลือกตาล่าง
  2. เยื่อหุ้มเบ้าตาและแผ่นกั้น (Periorbita and septa) เป็นเนื้อเยื่อห่อหุ้มกระดูกเบ้าตา ไปเชื่อมกับเนื้อเยื่อระหว่างกล้ามเนื้อตา ออกมาเป็นแผ่นกั้นที่เรียก septum ยื่นมาทางด้านหน้า จะกั้นเนื้อเยื่อออกเป็นส่วนหน้า (preseptum) และส่วนหลังเป็นเยื่อป้องกันมิให้การอักเสบส่วนหน้าเข้าไปสู่ส่วนหลัง
  3. เส้นประสาทตา (Optic Nerve) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของ nerve fibre layer ของจอตา แบ่งได้เป็น 4 ส่วน ส่วนในลูกตายาวประมาณ 1 มม. ในเบ้าตายาว 25 มม. ใน optic canal 10 มม. และในสมอง 10 มม. ส่วนที่อยู่ในเบ้าตายาวกว่าความยาวจากด้านหลังลูกตาถึง optic canal ประมาณ 6 – 7 มม. เส้นประสาทตาส่วนที่อยู่ในเบ้าตาจึงเป็นรูป S ทำให้ตาโปน หากไม่มากจะไม่มีผลรบกวนประสาทตา
  4. เส้นประสาทในเบ้าตา ได้แก่ เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ทั้งแขนง ophthalmic และ maxillary ที่รับความรู้สึกจากหน้าผาก เยื่อบุตาด้านในเปลือกตาบน ล่าง หัวตาด้านใน รวมทั้งความรู้สึกของเปลือกตาล่าง แก้ม ริมฝีปากบน เหงือกบน และบริเวณขมับ รวมทั้ง เส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อตา ทั้ง 6 มัด ได้แก่ เส้นประสาทสมองที่ 3, 4 และ 6
  5. ระบบหลอดเลือดทั้งแดงและดำ หลอดเลือดแดงจาก ophthalmic artery ซึ่งมาจาก internal carotid artery และหลอดเลือดแดงอื่นที่มาจากแขนง external carotid artery ส่วนหลอดเลือดดำทั้ง superior ophthalmic vein ที่รับเลือดดำจากเบ้าตาระบายสู่ cavernous sinus ส่วนหลอดเลือดดำ inferior ophthalmic vein จะระบายเลือดเข้าสู่ superior ophthalmic vein

พยาธิสภาพในเบ้าตา

ความเข้าใจในกายภาพของเบ้าตา ทำให้รู้ถึงพยาธิสภาพต่างๆ ในเบ้าตา ได้แก่

  1. การอักเสบของเบ้าตา (orbital cellulitis) หากเกิดหน้าต่อ septum อาการไม่รุนแรงที่เรียกว่า preseptal cellulitis ส่วน orbital cellulitis ที่เป็นการอักเสบทางด้านหลังมักจะรุนแรง เพราะพยาธิสภาพอยู่ใกล้สมอง ใกล้หลอดเลือด cavernous sinus จำเป็นต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
  2. ภาวะ orbital cellulitis มักจะเกิดจากมีการอักเสบของไซนัส เพราะกระดูกเบ้าตาอันเป็นที่อยู่ของไซนัสล้อมรอบเนื้อเยื่อเบ้าตาไว้ ตลอดจนการติดเชื้อในปากอาจนำมาสู่ orbital cellulitis ได้
  3. กระดูกเบ้าตาที่บางที่สุดอยู่ที่ผนังด้านล่างของเบ้าตา หากมีการหัก มักจะมีเนื้อเยื่อภายในเบ้าตารวมทั้งกล้ามเนื้อตาแทรกลงมาตรงรอยแตก ทำให้ผู้ป่วยตายุบลงร่วมกับความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกตา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเห็นภาพเป็น 2 ภาพ รวมทั้งมีอาการชาบริเวณใบหน้าได้
  4. ความผิดปกติที่เบ้าตา ย่อมจะมีผลต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ที่อยู่ในเบ้าตาตั้งแต่กล้ามเนื้อตา เส้นประสาทตา เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 แขนง ophthalmic และ maxillary ได้
  5. ภายในเบ้าตามีเนื้อเยื่ออยู่หลายชนิด จึงอาจพบโรคต่างๆ เช่นเดียวกับอวัยวะอื่น ทั้งติดเชื้อ ผิดปกติแต่กำเนิด เนื้องอก เนื้อร้าย หลอดเลือดผิดปกติ ตลอดจนโรคของต่อมไทรอยด์ โดยผู้ป่วยมักมาด้วยอาการตาโปน ซึ่งจะต้องตรวจหาสาเหตุแต่ละกรณีไป