สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: กระจกตาอักเสบจากเชื้อรา ( Fungal keratitis )

กระจกตา อยู่ส่วนหน้าสุดของลูกตา อาจเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ ส่วนมากเป็นเชื้อแบคทีเรีย มีอยู่บ้างที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักจะรุนแรงและรักษายากกว่าเชื้อแบคทีเรียด้วยเหตุที่

  1. อาการจากการติดเชื้อราในระยะแรกมักจะไม่รุนแรง มีขี้ตาน้อยกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผู้ป่วยมาพบหมอช้า ระยะเวลาก่อโรคช้ากว่าแบคทีเรียจนผู้ป่วยอาจลืมถึงอุบัติเหตุนำ
  2. ยาต้านเชื้อรามีน้อย ส่วนใหญ่ไม่ได้ฆ่าเชื้อ เพียงเพื่อยับยั้งเป็นแค่ fungo static ไม่ใช่ fungocidal ผิดกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมักจะฆ่าเชื้อให้ตายได้เลย การรักษาเชื้อราจึงมักใช้เวลานานกว่า
  3. ยาต้านเชื้อราชนิดหยอดที่มีอยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับยาหยอดฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ราคาแพง อีกทั้งการหยอดตาก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในตามากกว่า อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลานาน เกิดผลข้างเคียงได้ การตรวจเพาะเชื้อจากบาดแผลที่ตาทำได้ยาก
  4. ผู้ที่เป็น มักจะเป็นเกษตรกร อยู่ไกลโรงพยาบาลมาพบแพทย์ช้า หรืออาจเป็นในคนมีโรคเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันโรคไม่ดี โรคจึงหายช้า

การวินิจฉัยโรค

  1. การมีแผลอักเสบที่กระจกตา โดยมีประวัติการบาดเจ็บที่ตาจากกิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า ชาวนาเกี่ยวข้าวใบข้าวบาดตา เป็นต้น
  2. มักจะมีลักษณะแผลแตกต่างจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น แผลที่เป็นมีขอบยกสูง บริเวณที่อักเสบมีสี บางรายมีรอยโรคกระจายจากแผลหลักเป็นแบบ satellite lesion บางรายจากขอบแผลมีเส้นกระจายออกคล้ายขนนก (feather like) เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหาซื้อยามาใช้เอง อาจทำให้รอยโรคแปลกออกไป อีกทั้งไม่มีลักษณะของแผลเฉพาะเชื้อราที่ชัดเจน เป็นเพียงข้อสังเกตว่าแผลจากเชื้อรามักมีรูปร่างดังกล่าวข้างต้น
  3. ควรขูดบริเวณขอบแผลและก้นแผลมาย้อมสีตรวจหาเชื้อรา ในห้องปฏิบัติการ (ย้อมสี KOH) และทำการเพาะเชื้อในวุ้นเลือด Sabouraud และ thioglycolate หาเชื้อต้นเหตุต่อไป อีกทั้งการเพาะเชื้อราด้วยเทคนิคปัจจุบันมีการขึ้นของเชื้อไม่มากนัก
  4. ผู้ป่วยบางรายอาจต้องตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่เป็นแผล เพื่อตรวจหาเชื้อต้นเหตุ (biopsy)

การรักษา

  1. ใช้ยาต้านเชื้อราซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
    1. Polyenes ได้แก่ยา amphotericin B (ไม่มีในรูปยาหยอด มักจะต้องใช้ยาฉีดมาผสมกันเองโดยแพทย์หรือเภสัชกร) และ Natamycin ซึ่งมีในรูปยาหยอดมีราคาแพง ต้องหยอดบ่อยๆ เพราะตัวยาเข้ากระจกตาไม่สู้ดี ได้ผลดีในเชื้อรา Fusarium และ Aspergillus (เป็นตัวสำคัญที่ก่อโรค)
    2. Imidazole ได้แก่ยา miconazole , clotrimazole , ketoconazole , econazole ยาในกลุ่มนี้ไม่มีในรูปยาหยอด แพทย์/เภสัชกรต้องเตรียมขึ้นเอง
    3. Fluorinated pyrimidine ได้แก่ flucytosine ต้องเตรียมเป็นยาหยอดจากยาเม็ด

การผ่าตัด

  1. ใช้กาวปิดแผล (tissue glue) สำหรับกรณีแผลใกล้ทะลุที่มีขนาดเล็ก
  2. การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา เป็นวิธีทั้งขจัดเชื้อออก ร่วมกับแก้ไขภาวะฝ้าขาวที่ทำให้ตามัวลงได้
  3. มีบางรายที่เชื้อลุกลามมากเข้าสู่ภายในลูกตา เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง
  4. จนทำลายส่วนสำคัญภายในลูกตาหมด อาจต้องพิจารณาเอาลูกตาออกเพื่อกันมิให้เชื้อโรคเข้าสู่สมองหรือร่างกายต่อไป

สรุป

โดยสรุป แผลจากเชื้อราค่อนข้างยุ่งยากในการรักษา การป้องกันมิให้เกิดโดยระวังอุบัติเหตุขณะทำงานและรีบรับการตรวจรักษาจะดีที่สุด