สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 66: ความดันตา (Intraocular pressure)

ลูกตาเราเป็นรูปทรงกลม ขนาดลูกมะนาว เปลือกนอกของ ลูกตาเป็นกระจกตา (ตาดำ) และตาขาว ภายในลูกตาประกอบด้วยเนื้อเยื่อต่างๆ ช่วยในการมองเห็น ได้แก่ ม่านตา แก้วตา จอตา และที่มีมากสุดเป็นส่วนที่เป็นน้ำ คือ น้ำ aqueous (ใส) กับน้ำวุ้น (เป็นเมือกคล้ายไข่ขาว) ส่วนที่เป็นน้ำ ช่วยทำให้ลูกตาเป็นทรงอยู่ตัวไม่บุบบิบบู้บี้ กล่าวคือ ดวงตาจะคงทรงรูปอยู่ได้ภายในต้องมีแรงดันพอเหมาะ ถ้าทุกอย่างภายในอยู่นิ่ง ความดันตาจะคงที่ตลอด แต่เราพบว่าแรงดันหรือความดันตามีการเปลี่ยนแปลง เหตุที่มีการขึ้นลงของความดันตาอยู่ที่น้ำ aqueous ในลูกตามีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกับเลือดภายในร่างกาย กล่าวคือ น้ำ aqueous ถูกสร้างจาก ciliary body ซึ่งอยู่ภายในลูกตาตลอดเวลา ด้วยอัตรา 2 – 2.5 ul / นาที และน้ำนี้จะต้องไหลออกจากตาผ่าน trabecular meshwork (อยู่บริเวณมุมตาตรงบริเวณตาขาวต่อกับตาดำ) ไปตามกระแสเลือด sclerol ploxus หากการสร้างและการไหลออกเป็นไปด้วยอัตราใกล้เคียงกัน ความดันตาจะอยู่ค่อนข้างคงที่ หรือเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย โดยสรุปตัว aqueous ในตาคนเรามีอยู่ประมาณ 0.31 มล. โดยอยู่ช่องหน้าตา (anterior chamber) 0.25 มล. และช่องหลังตา (posterior chamber 0.06 มล. และมีการสร้างจาก ciliary body 2 – 2.5 ul / นาที โดยมีหน้าที่หลัก

  1. นำอาหารไปเลี้ยงรวมทั้งนำของเสียออกจากส่วนต่างๆ ภายในลูกตา โดยเฉพาะที่ไม่มีหลอดเลือด เช่น แก้วตา กระจกตาด้านใน
  2. ทำให้ลูกตาทรงตัวอยู่ได้อันจะนำมาซึ่งการหักเหของแสงที่เข้าตามีความสม่ำเสมอ ก่อให้เกิดภาพที่ชัดเจน อีกทั้งตัว aqueous ยังมีค่าดัชนีการหักเหของแสงที่เหมาะสม คือ 1.336
  3. เป็นตัวดูดซับรังสีต่างๆ ที่ให้โทษแก่ส่วนอื่นของดวงตา โดยเฉพาะรังสียูวีให้เข้าสู่แก้วตา จอตา ได้น้อยลง ความดันตาที่ปกติ หากการสร้าง aqueous และการไหลออกได้สมดุลกัน ความดันตาคนนั้น จะค่อนข้างคงที่หรือเปลี่ยนแปลงได้ บ้างเล็กน้อยมีค่าแตกต่างกัน ได้บ้างในแต่ละบุคคล

มีการศึกษาพบว่าในคนปกติค่าความดันตาจะอยู่ระหว่าง 15.5 +- 2.57 มม.ปรอท เมื่อคิดค่าสูงสุดโดยบวก 2 SD จะได้ 20.5 มม.ปรอท ซึ่งจะครอบคลุมคนปกติได้ถึง 95 % เลยเป็นตัวเลขที่อ้างกันว่า ความดันตาปกติต้องไม่เกิน 21 มม.ปรอท ระดับความดันตาในคนปกติแตกต่างกันได้บ้าง ตาม

  1. กรรมพันธุ์ เผ่าพันธุ์ พบว่าชาวคอเคเชี่ยนมีความดันตาเฉลี่ย 15.5 มม.ปรอท คนไทยเคยมีการศึกษา พบว่ามีค่า 13.3 มม.ปรอท
  2. เพศ ชายและหญิงไม่แตกต่างกัน แต่หญิงวัยทอง จะสูงกว่าเล็กน้อย
  3. อายุ อายุมากขึ้น จะมีค่าความดันตาสูงขึ้น
  4. ผู้มีสายตาสั้น จะมีความดันตาสูงกว่าคนทั่วไปได้เล็กน้อย
  5. ในแต่ละเวลาของวัน คนเดียวกันอาจมีค่าความดันต่างกันได้บ้าง เรียกกันว่าเป็น diurnal variation เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวกับระดับของฮอร์โมน adrenocorticosteroid ในร่างกาย ชีพจร ความดันโลหิต อัตราการหายใจ ฯลฯ ส่วนใหญ่ความดันตาจะสูงสุดตอนตื่นนอน (ไม่แน่เสมอไป) อย่างไรก็ตามการแปรเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลาของวันในคนปกติประมาณ 2 – 8 มม.ปรอท หากใครมีค่านี้เกิน 8 มม.ปรอท ควรรับการตรวจและติดตามดูในระยะยาว
  6. ยาหรืออาหารบางอย่างที่มีผลต่อความดันตาบ้าง (ไม่นับยาลดความดันตาโดยเฉพาะ) ได้แก่ เหล้า เฮโรอีน ลดความดันตา ส่วนบุหรี่ กาแฟ เพิ่มความดันตา เป็นต้น

การวัดความดันตา: เป็นที่ทราบกันดีว่า ความดันตาสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันหนึ่งที่นำมาสู่โรคต้อหิน ซึ่งทำลายจอตาประสาทตา ทำให้ตามัวลงและบอดในที่สุด โดยไม่มีทางแก้ไข (หากปล่อยให้มืดสนิทแล้ว) การวัดความดันตาจึงเป็นการตรวจอันแรกๆ ในการวินิจฉัยโรคต้อหิน การวัดความดันตาในคลินิก ทำได้โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Tonometer ในปัจจุบันที่ทำกัน ได้แก่

  1. ใช้เครื่องมือที่เรียกกันว่า Schiotz tonometer ใช้กันมากในโรงพยาบาลหรือคลินิกหมอทั่วไป (ไม่ใช่หมอตา/จักษุแพทย์) เป็นเครื่องมือขนาดเล็ก พกพาได้สะดวก การวัดทำได้ง่ายทั้งผู้ช่วยพยาบาล พยาบาล ทั้งหมอทั่วไป ทำได้ง่าย แต่ค่าที่ได้ไม่แม่นยำนักเหมาะกับการตรวจคนหมู่มากเป็นการตรวจคัดกรอง (screening)
  2. ใช้เครื่องมือที่เรียก applanation tonometer ส่วนมากวัดโดยจักษุแพทย์ เครื่องมักจะติดกับเครื่องตรวจตาที่เรียกว่า slit lamp ที่หมอตาใช้ตรวจลูกตาทั่วๆ ไป เป็นเครื่องที่แม่นยำที่สุดที่ใช้ในคลินิกปัจจุบัน ข้อเสีย คือ เครื่องมือยุ่งยาก ต้องอาศัยความชำนาญในการวัด เครื่องมือใหญ่ ราคาแพง พกพายาก เป็นการวัดที่จักษุแพทย์ใช้บ่อยสุด โดยเฉพาะการติดตามรักษาผู้ป่วยโรคต้อหิน

    ทั้ง วิธี 1 และ 2 ผู้ป่วยต้องได้รับการหยอดยาชาก่อน เพราะเครื่องมือที่วัดต้องสัมผัสกับตาดำจึงมีการเจ็บเล็กน้อย

  3. ปัจจุบันในการตรวจคัดกรองในประชากรหมู่มาก สามารถวัดโดยใช้ลมเป่า (pneumotonometer) หรือเรียกอีกอย่างว่า non – contact tonometer ไม่มีการสัมผัสลูกตา วัดโดยบุคลากรที่ไม่ต้องฝึกฝนมาก สามารถวัดโดยไม่ต้องถอดคอนแทคเลนส์ (ในกรณีที่ผู้ป่วยใส่คอนแทคเลนส์อยู่)