สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 64: เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้

ในเรื่องเกี่ยวกับภูมิต้านทานหรือภูมิแพ้ เราพบว่าเยื่อบุตา/เยื่อตา เป็นเนื้อเยื่อที่มีระบบภูมิต้านทานที่ซับซ้อน (complex muscosal : mmune defence) จากการที่ตัวเยื่อบุตาประกอบด้วย สารต้านการอักเสบในน้ำตา ได้แก่ immunoglobulin มีเซลล์ที่เรียกกันว่า dendritic cells (Langerhans) , lymphocyte เม็ดเลือดขาว (polymorph , plasma และ mast cell) อีกทั้งเยื่อบุตายังมีน้ำเหลือง (lymphatic vessel) ซึ่งจะช่วยจับสิ่งต่างๆ หรือปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดจากภูมิแพ้ให้ถูกขจัดไปทางน้ำเหลือง โดยสรุปปฏิกิริยาภูมิแพ้ของเยื่อบุตาเกี่ยวข้องกับน้ำเหลือง Immunoglobulin (IgA), CD4T lymphocyte , Mast cell และตัว mast cell degranulation เป็นตัวทำให้เกิดอาการตาแดง เยื่อบุตาบวม คันตา มีขี้ตาเป็นเมือกๆ อาจแบ่งลักษณะโรคภูมิแพ้ในเยื่อบุตาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. Perennial allergic conjunctivitis เป็นภูมิแพ้ตามฤดูกาล สารที่ก่อภูมิแพ้อยู่ในอากาศ ซึ่งเมื่อเข้าสู่น้ำตาและไปสัมผัสกับ mast cell ในเยื่อบุตา ตัว mast cell จะเกิด degranulation ปล่อยสาร histamine และสารเคมีอื่นๆ ทำให้หลอดเลือดที่เยื่อบุตาขยาย บวม ตามมาด้วยปฏิกิริยา การอักเสบจากเม็ดเลือด Eosinophil ปฏิกิริยานี้อาจเกิดได้รวดเร็วเพียงไม่กี่นาที ที่สัมผัสถูก ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีภูมิแพ้ระบบอื่น เช่น ทางจมูก หรือเป็นหืดร่วมด้วย อาการหลักของภาวะนี้คือ คันตา หนังตาบวม เยื่อบุตาแดงร่วมกับมีขี้ตาเป็นเมือกเหนียว

    การรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จากอาการและอาการแสดงมักจะวินิจฉัยได้ง่าย การรักษาต้องเริ่มที่หลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ ฝุ่น ละอองเกสร ฝุ่นจากหมอนที่นอน ขนสัตว์มักจะเป็นสาเหตุหลัก ต้องหลีกเลี่ยง การรักษาอื่นๆขึ้นอยู่กับอาการเป็นหลัก ประกอบด้วย

    • การประคบเย็น
    • การใช้น้ำตาเทียม ขจัดสารก่อภูมิแพ้
    • ยาหยอดตาประเภทต้าน histamine และ mast cell stabilizer
    • ยาหยอดตาเพื่อหดหลอดเลือด
    • ยาหยอดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ steroid
    • หากอาการมาก ใช้หยอดตาในกลุ่ม steroid เป็นครั้งคราว โดยต้องระวังผลแทรกซ้อนของยาด้วย
  2. Vernal keratoconjunctivitis (VKC) มักพบในเด็กผู้ชาย ในผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว โดยผู้ป่วยจะมีอาการมากกว่าในกลุ่ม 1 คันมาก ตาสู้แสงไม่ได้ ตาพร่ามัว มีขี้ตาเป็นเมือกมาก การตรวจจะพบลักษณะของ papillary hypertrophy ที่เยื่อบุตาใต้เปลือกตาบน (palpebral type) หรือพบบริเวณตาขาวต่อตาดำบวม มีเนื้อหนาขึ้นมาเป็น limbal VKC ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจพบความผิดปกติที่กระจกตาเป็นจุดเล็กๆ ที่เรียก punctate keratitis ในบางรายอาจพบเป็นแผลที่ไม่ใช่จากการติดเชื้อที่เรียกกันว่า shield ulcer
  3. การรักษา เริ่มคล้ายในกลุ่ม 1 แต่ส่วนใหญ่ต้องให้ยาหยอดตาที่มี steroid ช่วย หรือผู้ป่วยบางรายอาจต้องฉีดยา steroid ไปที่เยื่อบุตาที่เป็นตุ่มนูน อีกทั้งระยะหลังมีการแนะนำใช้ยาหยอด cyclosporine ที่จะช่วยปรับภาวะภูมิต้านทาน (immune medulator)

  4. Atopic keratoconjunctivitis (AKC) มักพบในผู้ที่มีผื่นคันที่ผิวหนังด้วย ร่วมกับภูมิต้านทานทางกายลดลง จึงมักมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่เปลือกตา ตลอดจนติดเชื้อ herpes ที่กระจกตาได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักพบในผู้สูงอายุกว่ากลุ่ม 2 แรก ลักษณะของ papillary hypertrophy มีขนาดเล็กกว่า ตัวเยื่อบุตามักเกิดแผลเป็นก่อให้เกิดภาวะ symblepharon คือเยื่อบุตาใต้ผิวหนังติดกับเยื่อบุตาที่บุตาขาว อีกทั้งอาจพบต้อกระจกร่วมด้วย การรักษากลุ่มนี้คล้ายในกลุ่ม 2 แต่ต้องเพิ่มความระวังโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้มากกว่า 2 กลุ่มแรก หากพบต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรักษาร่วมไปด้วย