สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 60: แว่นหลายโฟกัสไร้รอยต่อ

เพื่อสนองความต้องการของผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป) ที่ความสามารถในการเพ่ง (accommodation) เสื่อมลง ทำให้มองใกล้ไม่ชัด โดยเฉพาะผู้มีสายตาผิดปกติที่มองไกลต้องใช้แว่นอยู่แล้ว จึงต้องมีแว่นตามองไกล และแว่นอีกอันใช้มองใกล้ซึ่งยากแก่การพกพาต้องถอดเปลี่ยนแว่นเข้าๆ ออกๆ ด้วยการทำเลนส์แว่นตา 2 ชั้น ในแว่นอันเดียว มองไกลด้วยเลนส์บน มองใกล้ด้วยเลนส์ส่วนล่าง แต่ภาพระหว่างกลางจะไม่ชัดเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของเลนส์หลายโฟกัสที่เรียกกันว่า Progressive additional lens เรียกสั้นๆว่า Progressive lens เรียกย่อว่า PALs ซึ่งเป็นเลนส์ที่มีหลายโฟกัสอยู่ในเลนส์อันเดียว ขนาดกำลังโฟกัสลดหลั่นกันลงมาเพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นชัดได้ทั้งระยะไกล ระยะกลาง (intermediate) และระยะใกล้ โดยตัวเลนส์ไม่มีรอยต่อระหว่างแต่ละโฟกัสให้เห็น เลนส์ชนิดนี้เริ่มมีใช้กันในราว 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองผู้สูงอายุที่ไม่ได้ใช้สายตาเฉพาะไกลและใกล้เท่านั้น แต่อยากมองระหว่างไกลและใกล้ได้ชัดด้วย จึงมีผู้ผลิตเลนส์หลายโฟกัสนี้ และพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน

เลนส์ชนิดนี้อาจแบ่งเป็น zone ต่างๆ คือ ตรงกลางเป็น zone ที่ใช้มองโดยที่ด้านบนเป็น zone มองไกล และด้านล่างเป็น zone มองใกล้ บริเวณกลางมองระหว่างระยะไกลและใกล้ กล่าวคือ zone ตรงกลางจากบนลงล่างเป็นบริเวณที่มองเห็นชัดที่ระยะไกลถึงใกล้ มีกำลังในการมองเห็นภาพลดหลั่นกันลงมาตามกำลังสายตา หากผู้สวมหน้าตรงมองวัตถุผ่านเฉพาะตรงกลาง จากไกลมาใกล้จะเห็นได้ชัด ทั้งภาพไกล ระหว่างกลางและใกล้ และเนื่องจากเลนส์ชนิดนี้ ยังมีบริเวณด้านข้างๆ ทั้งหัวตาและหางตาจะเป็นส่วนที่ถ้ามองผ่าน ภาพจะบิดเบี้ยว (optical aberration zone) เพราะขบวนการทำเลนส์ให้มีกำลังลดหลั่นกันลงมา โดยวิธีปรับความโค้งนั้น ทำให้ด้านข้างๆ มีการหักเหของแสงที่ไม่สม่ำเสมอ เป็นเหตุให้เห็นภาพบิดเบี้ยว เลนส์แต่ละบริษัทพยายามทำเพื่อปรับความไม่ดีของภาพที่เกิดจากด้านข้างลง โดยพบว่าถ้าเราทำบริเวณตรงกลางให้กว้างมากเพื่อจะได้ภาพคมชัดบริเวณกว้างขึ้น จะก่อให้เกิดภาพบิดเบี้ยวในบริเวณที่แคบก็จริงแต่บิดเบี้ยวมาก ในขณะที่ถ้าแนวตรงกลางแคบ (เก็บภาพชัดในบริเวณแคบ) ภาพบิดเบี้ยวด้านข้างไม่มากแต่กินบริเวณกว้าง แต่ละบริษัทที่ออกแบบเลนส์ชนิดนี้จึงมีความกว้างและภาพบิดเบี้ยวด้านข้างแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความจำเป็นหรือความต้องการของผู้ใช้ เช่น ผู้ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์มากอาจต้องทำให้บริเวณกลางและล่าง กว้างกว่าบน ในขณะที่ผู้ต้องขับรถ คือมองไกลมากกว่าใกล้ ควรทำด้านบนให้กว้างกว่าล่าง เป็นต้น เป็นที่มาของเลนส์ชนิดนี้ในรูปแบบต่างๆ ของบริษัทผู้ผลิตต่างๆ

ก. ข้อดีของ PALs

  1. เป็นเลนส์ไร้รอยต่อ เชื่อว่าเป็นการอำพรางอายุ กล่าวคือ ถ้าผู้ใดสวมแว่นเดิมที่เรียกว่า เลนส์ 2 ชั้น (bifocal) ผู้อื่นจะรู้ทันทีว่าผู้สวมเป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่เลนส์ PALs ไม่มีรอย จึงคล้ายเลนส์สายตาทั่วๆไป จึงดูเหมือนพรางตาว่าเป็นแว่นตาธรรมดา ไม่ใช่แว่นผู้สูงอายุ
  2. มองเห็นชัดทุกระยะจากไกล กลาง และมาใกล้ ถ้าเป็นเลนส์ 2 ชั้น เห็นชัดเฉพาะไกลและใกล้ ส่วนตรงกลางจะมัว
  3. ภาพที่เห็นไม่กระโดด (image jump) เพราะกำลังเลนส์ค่อยๆ ลดลงมา ถ้าเป็นเลนส์ 2 ชั้น จากไกลมาใกล้จะเหมือนภาพกระโดด

ข. ข้อเสียของ PALs

  1. ผู้ใช้ ต้องใช้เวลาปรับเข้ากับแว่นนานกว่า ผู้ใช้ต้องเข้าใจถึงข้อไม่ดีของเลนส์ชนิดนี้ ที่ภาพด้านข้างไม่คมชัด หรืออาจเห็นบิดเบี้ยว การมองภาพด้านข้างควรใช้วิธีหันหน้าไป ไม่ใช้วิธีชำเลืองหรือกลอกตาเพราะภาพที่ผ่านเลนส์ด้านข้างจะบิดเบี้ยวมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของ PALs
  2. การประกอบเลนส์นี้เข้ากับแว่นต้องพิถีพิถัน ต้องทำโดยช่างประกอบแว่นที่ชำนาญ คำนึงถึงความสำคัญของระยะห่างของตา (papillary distant = PD) ซึ่งต้องละเอียดแม่นยำวัดทีละข้าง ระยะของ vertex distance (ระยะจากกรอบถึงตา) ยิ่งน้อย ยิ่งมี zone ของการมองเห็นกว้าง อีกทั้งกรอบแว่นที่ต้องทำมุมกับระดับของใบหน้า (pantoscopic) ประมาณ 10 องศา มุมนี้ถ้ากว้างมากทำให้ near zone อยู่ใกล้ตา เพิ่มความกว้างในการมองใกล้ ตลอดจนลักษณะของกรอบที่เข้ากับใบหน้าที่เรียก face – form wrap คือกรอบแว่นที่โค้งแนบใกล้ขมับยิ่งมาก จะยิ่งเพิ่ม zone ของการมองไกล
  3. ราคาของ PALs จะแพงกว่า
  4. ภาพด้านข้างบิดเบี้ยว ไม่ชัด

ค. บุคคลที่เหมาะหรือปรับตัวเข้ากับเลนส์ชนิดนี้ได้ง่าย ได้แก่

  1. ผู้ที่เคยใช้เลนส์ชนิดนี้มาแล้ว
  2. ผู้ที่มีสายตามองใกล้ไม่มาก โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มมีปัญหามองใกล้
  3. ผู้ที่มีความตั้งใจอยากใช้เลนส์ชนิดนี้เพื่อความสวยงาม เป็นการอำพรางอายุ เพราะไม่มีรอยต่อให้เห็น
  4. ผู้ที่เคยใช้เลนส์ 2 ชั้นมาแล้ว เกิดมีปัญหาต้องมองวัตถุระยะกลางขึ้นมา น่าจะปรับกับ PALs ได้ง่าย
  5. ผู้ที่ผ่าตัดต้อกระจกและฝังเลนส์แก้วตาเทียมมาแล้ว มักจะปรับได้ง่าย

ง. บุคคลที่มักไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ เลนส์ชนิดนี้

  1. มีกำลังสายตามองใกล้มาก
  2. เคยใช้เลนส์แว่นตา 2 ชั้นมาก่อนและค่อนข้างพอใจเลนส์แบบเก่า โดยเฉพาะคนที่ใช้เลนส์ 2 ชั้นชนิดมองใกล้กว้างๆ (wide lower segment)
  3. มีสายตา 2 ข้าง ต่างกันมาก
  4. มีปัญหาเวียนศีรษะง่าย เมารถ เมาเรือง่าย
  5. มีปัญหากล้ามเนื้อกลอกตา โดยเฉพาะในผู้ที่มีตาเขในแนวตั้ง และผู้ที่มีใบหน้า 2 ข้างไม่เท่ากัน แนวตา 2 ข้างเหลื่อมกันอยู่
  6. ผู้ที่มีความไวต่อสายตาที่เปลี่ยนแปลงมาก เช่น แว่นสายตาต่างกันเพียงเล็กน้อยก็รู้สึก และ/หรือเปลี่ยนแว่นแต่ละครั้งมีปัญหาต้องใช้เวลาปรับกับแว่นนานเสมอๆ

จ. ความสำเร็จในการประกอบ PALs ขึ้นกับ

  1. ความแม่นยำในการวัดสายตา ต้องให้ได้ค่าที่ถูกต้อง
  2. แนะนำให้ใช้ในบุคคลที่คิดว่าจะใช้ได้และผู้ใช้ต้องได้รับคำอธิบายของการปรับตัวในการใช้ ต้องยอมรับสภาพว่าหากมองข้างโดยใช้วิธีกลอกตา ภาพจะบิดเบี้ยว ให้ใช้วิธีหันหน้ามากกว่ากลอกตา หากระยะแรกใช้ไม่ได้ต้องอดทนแล้วจะค่อยๆปรับตัวได้เอง
  3. เลือกชนิดของ PALs ที่เหมาะสมกับการใช้สายตา
  4. เลือกกรอบแว่นที่เหมาะสม ใน PALs ทั่วๆ ไป ต้องใช้กรอบที่มีขนาด 25 – 30 มม. หากเลือกกรอบเล็ก จำเป็นต้องใช้ short corridor progressive lens
  5. ช่างประกอบแวน ควรต้องพิถีพิถันทุกจุดในการประกอบเลนส์