สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 59: การวัดสายตาในเด็กเล็ก

สายตาหรือการมองเห็น บ่งบอกถึงการทำงานของตาว่าปกติหรือไม่ การวัดสายตาจึงจำเป็นในการตรวจตา และการวัดสายตาทั่วๆไป ยังขึ้นกับตัวผู้ป่วย (subjective) อาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยที่จะสื่อให้หมอทราบว่าเห็นหรือไม่ โดยใช้แผ่นภาพมาตรฐาน (Snellen chart) ซึ่งนิยมทำเป็นตัวเลข 7 แถว โดยมีขนาดของตัวเลขลดหลั่นกันลงมา โดยมีค่าปกติบอกไว้ หากอ่านไม่ได้ตามที่บ่งไว้ว่าคนปกติจะต้องเห็น แสดงว่าผู้นั้นมีสายตาไม่ปกติ ซึ่งจำเป็นต้องรับการตรวจหาสาเหตุของความผิดปกตินั้น

การตรวจสายตาในเด็กโต หรือในผู้ใหญ่จึงทำได้ง่าย คราวนี้มาถึงเด็กตั้งแต่เกิดจนถึงอายุก่อนเข้าเรียนจะวัดตรวจสายตากันอย่างไร และเป็นที่ทราบกันดีว่า การมองเห็นจะพัฒนาขึ้นเมื่อมีแสงกระตุ้นและระยะแรกการมองเห็นไม่เท่าผู้ใหญ่ แต่จะเห็นดีขึ้นๆจนอายุประมาณ 4-5 ปี จะมีการมองเห็นเท่าผู้ใหญ่

เด็กแรกเกิดจะยังมองไม่เห็นทันที ที่ได้รับแสงสว่าง จะเริ่มเห็นโดยระยะแรกคาดว่าเด็กน่าจะมองเห็นแค่ขาวกับดำหรือสีเทา และในเด็กแรกเกิดจะต้องใช้แสงสว่างมากกว่าผู้ใหญ่ 50 เท่า โดยแรกเริ่มจะไม่สามารถเพ่ง (ไม่มี accommodation) จะเห็นว่าเด็กจึงสู้แสงได้มากกว่าผู้ใหญ่ เมื่ออายุ 1 สัปดาห์ เด็กจะเริ่มเห็นสีแดง ส้ม เหลือง เขียว เท่านั้น (ชาวบ้านจึงนิยมใช้ปลาตะเพียนสีแดง ส้ม เหลือง ให้เด็กมองเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านจริงๆ) ส่วนสีน้ำเงินซึ่งมีคลื่นสั้นและจำนวนเซลล์รับรู้การเห็นสีน้ำเงินมีน้อยกว่าจะมองเห็นได้ช้ากว่า

เมื่ออายุ 2-3 เดือน เด็กจะเริ่มเห็นมากขึ้น และตาเริ่มเคลื่อนตามวัตถุที่มอง สามารถกลอกตาไปมาได้โดยไม่ต้องหันหน้า อายุนี้ใช้แสงสว่างในการช่วยมองเห็นมากกว่าผู้ใหญ่ 10 เท่า

อายุ 4-6 เดือน สมองส่วนรับรู้การเห็นพัฒนาขึ้น ตาเคลื่อนที่ได้เร็วและมองตามวัตถุได้ดี มีการเชื่อมโยงของการทำงานของมือและตา (eye-hand co-ordination)

อายุ 6-12 เดือน เริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ อาศัยการพัฒนาของการมองเห็นดังกล่าว นำมาซึ่งวิธีการทดสอบสายตาเด็กเล็ก โดยผู้ใกล้ชิดอาจจะเป็นมารดาหรือพี่เลี้ยงโดยสังเกตในอายุต่างๆ ดังนี้

1. อายุ 0-2 เดือน ต้องอาศัยการแสดงออกทางใบหน้าว่าเด็กมีการเห็นหรือไม่ เช่น หลับตาเมื่อส่องไฟ ยิ้มเมื่อมองเห็น

2. อายุ 2 เดือน มีข้อสังเกตว่าเด็กจะต้องจ้องหน้าแม่หรือพี่เลี้ยงขณะให้นมได้

3. อายุ 3-6 เดือน อาจใช้ไฟฉายส่องล่อ เด็กจะมองตามแสงไฟได้ หากระยะแรกเด็กไม่มองตามให้ทำซ้ำๆ

4. อายุ 6-12 เดือน อาจใช้ลูกบอลสีล่อ วัยนี้เด็กอาจขยับมือคว้าวัตถุได้ อาจใช้ลูกบอลสีกลิ้งไปบนพื้น เด็กจะมองตาม

5. อายุ 1 ปีขึ้นไป เด็กอาจใช้นิ้วหยิบจับของเล็กๆได้ถ้ามีการมองเห็น ที่สำคัญเด็กเริ่มจำคนได้ จำหน้าแม่และพี่เลี้ยงได้

6. อายุ 3 ปี ก่อนเข้าอนุบาล เด็กจะบอกถึงการมองเห็นภาพได้

อนึ่ง การคัดกรองสายตาในเด็กเล็ก ที่ไม่ให้ความร่วมมือ ตั้งแต่เกิดจนถึงวัยเรียนอาจทำได้ด้วย

1. สังเกตพฤติกรรมจากการทดสอบที่กล่าวข้างต้น

2. การวัดด้วยเครื่อง ส่วนใหญ่ทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ มีเครื่องมือต่างๆ เช่น

2.1 Nystagmus drum เป็นการหมุนแถบขาวดำสลับกันขนาดต่างๆ (บ่งถึงระดับสายตา) ให้เด็กมอง ถ้าเด็กเห็นจะมีการกระตุกของตา สามารถทดสอบได้ตั้งแต่แรกเกิด

2.2 ใช้หลักของ CSM (central, steady, maintain) ใช้ไฟส่องดูว่าตาเด็กอยู่ตรงกลางและมองนิ่งอยู่ได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง แสดงว่ามีการเห็นที่ใช้ได้

3. Preferential looking test มีเครื่องมือต่างๆ ใช้แถบสีที่เด็กสนใจเคลื่อนที่ไป เด็กจะมองตาม เช่น LEA gating, Teller acuity card เป็นต้น

4. Photoscreener เป็นเครื่องมือส่องเข้าไปในรูม่านตาให้ red reflex (แสงสะท้อนสีแดง) ออกมา สามารถแปรผลจาก red reflex ได้ว่าเด็กน่าจะมีสายตาปกติหรือไม่

5. .ใช้ Visual chart เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่แทนที่จะเป็นตัวเลข อาจจะเป็นภาพที่เด็กรู้จัก ขนาดต่างๆกัน หรือตัว E ที่เรียกกันว่า E-game

อย่างไรก็ตาม การวัดสายตาในเด็กจะว่ายากก็ไม่ใช่ ง่ายก็ไม่เชิง ต้องใช้ทักษะในการตรวจ ควรระลึกว่า

1. เด็กมักสนใจสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ ควรวัดสายตาในห้องเงียบให้เด็กคุ้นเคยกับสถานที่และบุคลากรที่จะเป็นผู้วัด โดยต้องให้แม่อยู่กับเด็กตลอด

2. การทดสอบควรจะทำคล้ายเล่นกัน มีการหลอกล่อให้เด็กสนุกและเพลิดเพลิน มีของเล่นหลอกล่อให้เด็กสนใจ

3. มีการให้กำลังใจ ชมเมื่อเด็กทำในสิ่งที่เราต้องการได้

4. อย่าเคี่ยวเข็ญเด็กมากเกินไป ทำความคุ้นเคยไว้ก่อน

5. ทำซ้ำหากยังมีข้อสงสัย อาจจะไม่ได้คำตอบในการตรวจเพียงครั้งเดียว