สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 57: สารก่อโรคตาทารกในครรภ์ (ocular teratogenic agent)

อาจจะเป็น การบริโภคยา สารเคมี การติดเชื้อโรค ได้รับการฉายแสง/รังสีรักษา ตลอดจนภาวะบกพร่องของสารหรืออาหารบางอย่าง ในระหว่างตั้งครรภ์ที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของทารกในท้อง/ในครรภ์ที่การแพทย์เรียกว่า teratogenic agent กลไกการเกิดอาจจากสารเหล่านี้ ไปขัดขวางการได้รับอาหารของเด็กในครรภ์จากการก่อกวนระบบ เอนไซม์/enzyme ส่งผลถึงการทำงานผิดไปของรกซึ่งเป็นทางเชื่อมจากแม่ไปยังลูก ระยะเวลาที่ก่อให้เกิดความผิดปกติมักจะเป็นการได้รับยา ฯลฯ นั้นช่วงเวลาวันที่ 24 – 40 ของการตั้งครรภ์ อันเป็นเวลาที่ทารกในครรภ์กำลังอยู่ในระยะพัฒนาเป็นอวัยวะต่างๆ (organogenesis) ดังที่ทราบกันว่า หญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก/3 เดือนแรกจำเป็นต้องระวังสิ่งบริโภคต่างๆและที่สำคัญคือ การติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วงนี้ก่อให้เกิดทารกผิดปกติได้ ทางตาก็เช่นเดียวกัน

อาจแบ่งสารที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางตาในทารก ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

1. สารที่ชัดเจนว่า ถ้ามารดาได้รับระหว่างตั้งครรภ์ จะก่อให้เกิดความผิดปกติของทารกในมนุษย์ ได้แก่

1.1 Retinoid เป็นวิตามินเอ ที่มักใช้ในการรักษาสิว ซึ่งมีการพิสูจน์ว่าเกิดความผิดปกติในสัตว์ทดลองมานานแล้ว และมีรายงานพบความผิดปกติในมนุษย์ อันได้แก่ ความผิดปกติทางสมอง ทางตาที่พบ เด็กมีขนาดดวงตาเล็ก(micropthalmia), ตา 2 ข้างห่างกัน (hypertelorism), หน้าตาไม่เหมือนเด็กปกติ เป็นลักษณะที่เรียก Treacher Collins syndrome, และบางรายมีความผิดปกติของสมองส่วนรับรู้การเห็น (cortical blindness) แม้แต่วิตามินเอ ตัวอื่นที่ใช้รักษาโรคผิวหนังสะเก็ดเงิน/ psoriasis ก็ทำให้เกิดความผิดปกติในทารกได้ อีกทั้งยาตัวนี้สะสมในเซลล์ไขมันของมารดา โดยค่อยๆ ปล่อยออกมาแม้ว่าจะหยุดยาไปแล้ว 1 ปี ได้

1.2 Thalidomide ซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1956 ในยุโรป และในปี 1961 พบความผิดปกติของแขนขาในทารกจำนวนมาก ยาตัวนี้จึงถูกถอนออกจากบัญชียา พบความผิดปกติทางตาได้ถึง 25% ความผิดปกติทางตาที่พบ ได้แก่ coloboma (รอยแหว่ง)ของ ม่านตา เนื้อเยื่อchoroid จอตา และประสาทตา, รวมทั้งความผิดปกติของจอตา (pigmentary retinopathy) ตาเข และรูม่านตาผิดปกติ

1.3 Folic acid antagonist เป็นเคมีบำบัดที่รักษามะเร็งและฆ่าเชื้อโรค ยาในกลุ่มนี้หลายตัวที่ทำให้เกิดการแท้งในหญิงมีครรภ์ บางตัวทำให้ทารกมีหนังตาตก แม้แต่ยา Methotrexate ก็ทำให้เกิดความผิดปกติคล้ายยาตัวนี้

1.4 สารปรอทออร์แกนิค/organic mercury เป็นสารใช้ในอุตสาหกรรมที่ใช้ฆ่าเชื้อรา หากได้รับสารตัวนี้เกินไป จะก่อให้เกิดอาการทางสมอง ลานสายตาแคบลง ตามัวลงจนถึงขั้นตาบอด

1.5 สารแอลกอฮอล์ Ethanol ก่อให้เด็กเกิดมาเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่า fetal alcohol syndrome ซึ่งเด็กจะมีอาการทางกายที่รุนแรง ได้แก่ น้ำหนักตัวน้อย เติบโตช้า ศีรษะเล็ก สมองไม่พัฒนา มารดาที่ดื่มสุราวันละ 1 ออนซ์ ทุกวันระหว่างตั้งครรภ์จะก่อให้เกิดภาวะนี้ ซึ่งทางตาจะพบว่า มีขนาดตาสั้น (ความยาวแนวนอนของตาน้อย) หนังตาตก ตาเข หลอดเลือดที่จอตาผิดปกติ ตลอดจนขั้วประสาทตาเล็ก (optic disc hypoplasia) สายตาสั้น และดวงตาเล็ก

1.6 การรับการฉายแสง/รังสีรักษาของแม่ที่บริเวณตา ก่อให้เด็กเกิดมาเป็นต้อกระจก ตาเล็ก หรือไม่มีตา เคยมีผู้รายงานว่า การได้รับรังสี 500 rad(หน่วยทางรังสีรักษา) ขึ้นไปในทารกไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ จะก่อให้เกิดความผิดปกติของทารก จึงได้มีการกำหนดว่าสมควรทำแท้ง หากแม่ได้รังสีฯมากเกินไป

1.7 การติดเชื้อต่างๆในมารดา ที่พบความผิดปกติทางตาของทารกในครรภ์ได้ ได้แก่ เชื้อหัดเยอรมัน , การติดเชื้อไวรัส CMV , การติดเชื้อปรสิต Toxoplasmosis , คางทูม, ซิฟิลิส, สมองอักเสบ, อีสุกอีใส, ติดเชื้อไวรัส herpes, ตลอดจนติดเชื้อไวรัส เอดส์

2. สารที่คาดว่าน่าจะก่อความผิดปกติในทารก ได้แก่ สารต่างๆที่พบการผิดปกติของทารกรวมทั้งตาของทารกในสัตว์ทดลอง แต่มีรายงานการเกิดในมนุษย์บ้างประปราย เช่น

2.1 Phenothiazine , chloroquine , Quinine สารทั้ง 3 ตัวนี้ใช้เป็นยารักษาโรคบางชนิด ซึ่งพบก่อให้เกิดความผิดปกติในสัตว์ทดลอง ในคนมีรายงานบ้าง แม้มารดาส่วนใหญ่ที่ได้ยาตัวนี้ มีทารกที่ปกติ แต่ก็จัดว่าเป็นสารที่คาดว่าอาจจะก่อให้เกิดความผิดปกติในทารกได้

2.2 ยากันชัก กล่าวกันว่ามี 1 ใน 500 ของหญิงมีครรภ์ที่ต้องใช้ยากันชัก และมีรายงานว่ามารดาที่ใช้ยากันชัก อาจทำให้ทารกมีดวงตาผิดปกติ เช่น หนังตาตก ตาเข ประสาทตาขนาดเล็ก ต้อหิน, retinoschisis/โรคที่มีคงามผิดปกติที่จอตา , coloboma เป็นต้น

2.3 ยาในกลุ่ม Coumarin อาจทำให้ทารกเกิดภาวะดวงตาเล็ก, hypertelorism

2.4 ยาในกลุ่มเคมีบำบัดที่รักษามะเร็ง ได้แก่ actinomycin , vincristine , colchicine , nitrogen mustard , busulfan , methotrexate เป็นต้น ก่อให้เกิด ตาเล็กหรือไม่มีตา มีความผิดปกติของหนังตา แก้วตาและจอตา

2.5 ยาอื่นๆ ที่ฝรั่งเรียกว่า street drug เป็นยากึ่งยาเสพติดที่ซื้อขายกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ได้แก่ cocaine , ฝิ่น, barbiturate , amphetamine, ล้วนทำให้มารดามีทารกมีตาผิดปกติได

้ 3. ยาที่ใช้ทางตาที่ให้แก่มารดาที่อาจก่อให้เกิดทารกพิการทางตาได้

แม้แต่ยาหยอดตาก็เคยมีรายงานพบในสัตว์ทดลองว่า อาจทำให้ตัวอ่อนพิการได้

3.1 Tetracycline ถ้าใช้ในหญิงมีครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 4 เดือน หรือระยะใกล้คลอด ทำให้ฟันทารกบริเวณ crown มีสีคล้ำ

3.2 Daraprim ที่หมอตาใช้รักษาโรค toxoplasmnis พบความผิดปกติเกิดในสัตว์ทดลอง ดังนั้นในคนก็ควรต้องระวัง

3.3 Cytotoxic agent ได้แก่ chloram bucil , Cytoxan (ที่มักใช้รักษาโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันในตา) แม้แต่ IDU/idoxuridine/ยาต้านไวรัสเริม ก็มีรายงานทำให้เด็กทารก ในแม่ที่ใช้ยานี้ เกิดตาผิดปกติในกระต่ายที่นำมาทดลอง

3.4 ยาหยอดตาในกลุ่ม steroid และ acetazolamide ที่ใช้รักษาต้อหินก็ทำให้เกิดความผิดปกติในสัตว์ทดลอง แม้ว่าในคนยังไม่มีรายงานยืนยัน ในคนจึงต้องระวังการใช้ไว้บ้าง