สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 54: ปัญหาทางตาในหญิงตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางตาบ้างตามธรรมชาติ บางอย่างไม่รุนแรงหายไปเองหลังคลอดโดยไม่มีผลเสีย บางอย่างอาจเกิดขึ้นมาใหม่หรือภาวะที่มีอยู่เดิมมีอาการรุนแรงขึ้น อาจแบ่งการเปลี่ยนแปลงทางตาในหญิงตั้งครรภ์เป็น

1. มีการเปลี่ยนเล็กน้อยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียมากนัก ได้แก่

1.1 ความดันตามักจะลดลงในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ เชื่อว่าเกิดจากการไหลออกของสารน้ำในตา(aqueous) ทั้งทางปกติและทาง uveosclerol outflow มากขึ้น ตลอดจนความดันของหลอดเลือดดำที่เรียกว่า epioclerol ลดลง ความดันตาจะค่อยๆ กลับคืนสู่ปกติหลังคลอดประมาณ 2 เดือน

1.2 กระจกตา มีความหนามากขึ้น โค้งมากขึ้น แต่ความรู้สึก (sensitivity) จะลดลง ทั้งหมดทำให้หญิงมีครรภ์มักมีปัญหาในการใช้คอนแทคเลนส์ อีกทั้งมักมีค่าสายตาที่ผิดปกติเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมักจะเป็นชั่วคราว ซึ่งหากวัดค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไป ยังไม่ควรเปลี่ยนแว่นสายตา เพราะสายตามักจะกลับสู่ภาวะเดิมหลายสัปดาห์หลังคลอด

2.การเปลี่ยนแปลงซึ่งถือว่าเป็นพยาธิสภาพ

2.1 ความดันโลหิตสูง ซึ่งมักพบในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ (toxemia of pregnancy หรือ eclampsia) ซึ่งเมื่อมีความดันโลหิตสูง มักมีอาการตามัว เห็นแสงว๊าบๆ เข้าตาเห็นจุดดำๆ ตลอดจนเห็นภาพซ้อน และมักตรวจพบหลอดเลือดแดงจอตาตีบลง มีจอตาขาดเลือดเป็นหย่อมๆ จอตาบวม ความผิดปกติเหล่านี้มักจะกลับคืนสู่ปกติหลังคลอด ร้อยละ 10 ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ eclampsia มักจะมีจอตาหลุดลอกจากมีน้ำใต้จอตา (serous retinal detachment) โดยเป็นทั้ง 2 ข้าง เป็นจอตาลอกที่ไม่มีรูขาดที่จอตา ซึ่งมักจะหายได้เองหลังคลอด นอกจากนี้ยังมีรายงานพบภาวะประสาทตาขาดเลือดฉับพลัน (acute ischemic optic neuropathy) ตลอดจนตามัวจากหลอดเลือดที่เลี้ยงสมองส่วนควบคุมการมองเห็นตีบลง อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวมักหายได้เองหลังคลอดเป็นส่วนมาก นอกจากนี้เคยมีผู้รายงานพบภาวะที่รุนแรงมีทั้งเลือดออก การทำงานของตับผิดปกติ มีเกล็ดเลือดลดต่ำ มักมีปัญหาทั้งแม่และเด็กที่เรียกกันว่า HELPP syndrome (hemolysis , elevated liver enzyme , low platelet , poor maternal and fetal outcome) ซึ่งทางตาจะพบจอตาหลุด 2 ข้าง ร่วมกับ เลือดออกในน้ำวุ้นตาได้

2.2 พบภาวะ central serous retinopathy (CSR) ได้บ่อยกว่าหญิงไม่ตั้งครรภ์ โรคนี้ปกติมักพบในชาย ในอัตราส่วน ชายต่อหญิง 8 -10 ต่อ 1 แต่พบว่าในหญิงที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ จึงเชื่อว่า hormone น่าจะมีส่วนทำให้เกิด CSR ในหญิงมีครรภ์และจะหายหลังคลอด

2.3 หลอดเลือดอุดตัน ที่พบทางตาพบเลือดออกที่จอตาร่วมกับ cotton wool spot ซึ่งบ่งถึงภาวะขาดเลือดเป็นหย่อมๆ ของจอตา ลักษณะที่พบในจอตาเรียกกันว่า Purtscler – like retinopathy อีกทั้งอาจพบภาวะที่เรียกกันว่า DIC (Disseminated intravascular coagulation) ทางตาพบที่ชั้น choroid มีการอุดตันของ chorio capillary ได้

3. ความรุนแรงของภาวะที่มีอยู่ก่อนมากขึ้น

3.3 เบาหวานทำลายจอตา (diabetic retinopathy = DR) จากภาวะที่มี DR เล็กน้อยมักจะลุกลามไปเป็นมากขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ ผู้เป็นเบาหวานจึงควรรับการตรวจตาก่อนตั้งครรภ์และระหว่างตั้งครรภ์ไว้ด้วย

3.4 เนื้องอกในตา มีรายงานว่าอาจเพิ่มขนาดหรือเกิดปัญหาทำให้สายตามัวลงในโรค uveal melanoma , choroidal osteoma และ choroidal hemangioma

4. ผลของยาที่ให้ทางตาต่อหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร เรียกกันว่า Pregnancy safety index ที่ใช้ในองค์กรอาหารและยาของ USA ซึ่งใช้ได้กับยาทุกชนิด แบ่งเป็น class ต่างๆ ดังนี้

Class A มีการศึกษาในหญิงแบบมีกลุ่มควบคุมไม่พบว่ามีอันตรายในหญิงมีครรภ์ในไตรมาสแรกหรือเวลาต่อมา จึงเป็นยาที่ปลอดภัย

Class B การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าไม่มีอันตราย แต่ในคนไม่พบรายงานว่ามีอันตรายเช่นกัน (แต่ไม่มีการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมในคน)

Class C มีรายงานว่ามีอันตรายในสัตว์ แต่ไม่มีรายงานในคนและไม่มีการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมในคน รวมทั้งกลุ่มที่ไม่ได้ทดลองทั้งในสัตว์และในคน จึงควรใช้เฉพาะที่คิดว่ามีผลดีในการรักษาจริงๆ

Class D มีรายงานพบผลข้างเคียงในหญิงมีครรภ์ ต้องชั่งใจถึงผลดีต่อโรคจริงๆ จึงอาจพอใช้ยากลุ่มนี้ได้บ้าง

Class X อันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์อย่างยิ่ง ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์

ยาในกลุ่ม D และ X จึงไม่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์ ยาหยอดตาที่มีอยู่ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม C มีบ้างที่อยู่ในกลุ่ม B

แม้ยาหยอดตาผ่านรกไปสู่ลูกและออกมาทางน้ำนมได้ แต่ไม่ค่อยมีรายงานถึงผลเสีย ส่วนใหญ่เชื่อว่ายาหยอดตาไม่มีผลต่อเด็กในครรภ์ สำหรับยารักษาต้อหิน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม C มี Brimonidine และ Dipivefrin ที่อยู่ในกลุ่ม B โดยทั่วไประหว่างตั้งครรภ์ควรงดยาที่ไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นจริงๆ ให้กดหัวตาหลังหยอดยาเพื่อลดการดูดซึมของยาเข้าร่างกาย เพื่อให้ยาอยู่เฉพาะในตาเท่านั้น

สำหรับยาที่ใช้เพื่อการตรวจ เช่น ยา Fluorescien ผ่านรกและมีอยู่ในน้ำนมหลังฉีด 16 ชม. ก็ตาม แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีอันตรายต่อเด็ก แต่หมอส่วนใหญ่จะงดการใช้มากกว่า สำหรับ ยา Indocyanine green ไม่ผ่านรก แต่ไม่ทราบว่ามีในน้ำนมหรือไม่ แม้ยาตัวนี้จะมีการใช้ในหมอสาขาอื่นในหญิงมีครรภ์ ไม่พบมีข้อเสีย แต่หมอตาส่วนใหญ่จะรีรอที่จะใช้ยาตัวนี้ในหญิงมีครรภ์