สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 53: จอตาบวมไม่ทราบสาเหตุ (Central serous retinopathy)

ภาวะการบวมของจอตาบริเวณจุดรับภาพโดยไม่ทราบสาเหตุนี้ มักพบในวัย อายุ 25 – 55 ปี เป็นวัยทำงานสุขภาพแข็งแรงดี เป็นในชายมากกว่าหญิง ไม่พบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่มักพบในผู้ที่มีความเครียด มีบุคลิกที่เครียดง่าย พักผ่อนน้อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่ามัวโดยเฉพาะบริเวณตรงกลางอาจเห็นเป็นเงาดำตรงกลาง สายตามัวลงไม่มาก อาจเห็นภาพเล็กลงหรือภาพบิดเบี้ยวและการเห็นสีเปลี่ยนไป วัดสายตาพบว่ามีสายตายาวเพิ่มขึ้น จากการบวมของจุดรับภาพ ผู้ที่ได้รับยา steroid ไม่ว่าจะโดยการรับประทาน ยาหยอด หรือสูดดม มีโอกาสเกิดภาวะนี้บ่อยกว่าผู้อื่น ตรวจพบมีน้ำแทรกผ่านชั้น retinal pigment epithelium (RPE) ไปสะสมอยู่ใต้ sensony retina การตรวจพบจอตาบริเวณ macula บวมนูน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีความผิดปกติของชั้น choriocapillary ของ choroid ร่วมด้วย อาจพบจุดเหลืองๆ ซึ่งเป็นการรวมตัวของ fibrin หรือ pigment เป็นหย่อมๆ บางคนมีน้ำอยู่มากทำให้แลดูคล้าย cyst บริเวณ macula ซึ่งการตรวจด้วย OCT จะพบว่า sensory retina แยกออกจากชั้น RPE ชัดเจน การตรวจด้วย FFA (fundus fluorescene angiography) จะพบสีรั่วมาจาก RPE การตรวจด้วย ICG (indocyanine green angiography) จะพบ hyperpermeability และมี vascular congestion

แม้ว่าภาวะนี้จะไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เชื่อว่าการเพิ่มของ tissue hydrostatic pressure จากความผิดปกติของหลอดเลือดในชั้น choroid ทำให้ RPE หลุดออกจาก sensory retina ร่วมด้วยมี serous fluid ขังอยู่ บางคนเชื่อว่าเกิดจาก autoregulation ของหลอดเลือดใน choroid ผิดปกติไป บ้างก็ว่าสาร catecholamine หรือ sympathetic agent ที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียดเป็นต้นเหตุ ส่วนมากของผู้ป่วยหายจากโรคนี้ได้เอง แต่การมีรอยรั่วซ้ำๆ เป็นซ้ำๆ อาจทำให้เกิดภาวะ choroidal ischemia ได้

การดำเนินของโรค กว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วย โรคนี้จะหายได้เองภายใน 6 เดือน (โดยทั่วไปหายเองในเวลา 3-4 เดือน) โดยจะมีสายตา 20/30 หรือดีกว่าในที่สุด ที่เหลืออีกร้อยละ 20 อาจมีอาการได้นานถึง 12 เดือน โดยส่วนมากสายตากลับมาปกติ แต่มีบางรายอาจมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่ เช่น เห็นภาพเล็กลงและสีผิดเพี้ยนไปจากความผิดปกติของ RPE และเซลล์รับรู้การเห็น แต่จะค่อยๆ หายไป อย่างไรก็ตามร้อยละ 30-50 มีโอกาสเป็นซ้ำ และเป็นนานขึ้นในคราวหลังและอาจมีผลเสียเล็กน้อยตลอดไป โดยทั่วไปหากไม่หายภายใน 4 เดือน หรือผู้ป่วยมีอาการตามัวมาก อาจพิจารณาตรวจหาจุดรั่วด้วยการฉีดสีทำ FFA (fundus fluorescein angiography) และให้การรักษาด้วยแสงเลเซอร์อุดรูรั่ว อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยแสงเลเซอร์เป็นเพียงช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น แต่ไม่ได้ลดโอกาสของการเป็นซ้ำใหม่

ในรายงานนี้ Dr.Singer เสนอว่ายาในกลุ่ม NSAIDS ซึ่งขัดขวาง cyclooxygenare 1 และ 2 และลดระดับ cortisol ระหว่างมี stress น่าจะมีบทบาทในการรักษาภาวะนี้ โดยลองหยอดให้ผู้ป่วยโรคนี้ 38 คน ด้วย 0.09% bromfenac หรือ 0.1% nepafenac โดยมีผู้ป่วย 73 คน เป็นกลุ่ม control พบว่าผู้ป่วยที่ใช้ยาหายจากโรคใน 42 วัน โดยเฉลี่ย ในขณะที่กลุ่มไม่ได้ใช้หายใน 131 วัน โดยค่า P น้อยกว่า 0.0002 การใช้ยาในผู้ป่วยโรคนี้ทำให้หายเร็วกว่าไม่ได้ใช้ ทำให้ผู้ป่วยหายจากตาพร่ามัวเร็วขึ้

น อนึ่ง อาจมีคนค้านว่ายาหยอดตาในกลุ่ม NSAIDS อาจจะทำให้เกิดภาวะนี้ได้ดังเช่น ยาในกลุ่ม steroid แต่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะกลไกการออกฤทธิ์ของ NSAIDS คนละ pathway กับยา steroid

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ทำในผู้ป่วยจำนวนน้อย คงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิผลของการรักษาภาวะนี้ด้วยยาหยอด NSAIDS

แหล่งข้อมูล:

  1. poster presentation ในการประชุม AAO เมื่อปี 2013