สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 51: โรคตาในผู้ป่วยเอดส์

ผู้ป่วยโรคเอดส์ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง จึงมีโอกาสพบโรคในอวัยวะต่างๆได้ ตาก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่เกิดความผิดปกติได้มาก โดยพบมากกว่า 90% ในการตรวจศพผู้เสียชีวิตที่เป็นเอดส์ และประมาณ 70 - 80% ของผู้ป่วยเอดส์มีอาการทางตาในระหว่างที่รักษาเอดส์ ความผิดปกติต่างๆ เกิดสัมพันธ์กับ เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า CD4 T lymphocyte จำนวนต่างๆ กัน ได้แก่

1. ถ้าต่ำกว่า 500 เซลล์ / มล. พบโรคมะเร็งซาร์โคมาชนิด Kaposi sarcoma, มะเร็งเม็ดเลือดขาว (lymphoma) และ วัณโรค (TB)

2. ถ้าต่ำกว่า 250 เซลล์/ มล. พบการติดเชื้อรา pneumocytosis , เชื้อสัตว์เซลล์เดียว toxoplasmosis

3. ถ้าต่ำกว่า 100 เซลล์/ มล. พบความผิดปกติของหลอดเลือดในจอตาและเยื่อบุตา CMV9, ในจอตา Varicella – goster, ในจอตาติดเชื้อต่างๆ เช่น mycobacterium , Cryptococcosis , Microsporidosis , HIV เข้าสมอง

ทั้งนี้ อาการต่างๆ ทางตาที่พบไล่จากด้านหน้าไปสู่ด้านหลังของตา เช่น

1. บริเวณรอบๆนอกลูกตา (adnexa) ที่พบบ่อยได้แก่ งูสวัดบริเวณเปลือกตา/หนังตารอบๆ ดวงตา การพบงูสวัดที่เปลือกตาในคนอายุน้อย ควรสงสัยโรคเอดส์ในผู้ป่วยบางราย การเกิดงูสวัดเป็นอาการแรกที่พบนำไปสู่การวินิจฉัยโรคเอดส์

2. Kaposi sarcoma เป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เกิดจากเชื้อ Herpes type 8 พบเนื้องอกนี้ 25% ของผู้ป่วยเอดส์ และ 20% ของผู้ป่วยนี้ พบที่บริเวณเปลือกตาและเยื่อบุตา/เยื่อตา ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอะไรมากหรือเป็นเพียงระคายเคืองตา อาจมีอาการหนังตาตก หนังตาบวมเท่านั้น

3. หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) อาจพบได้ทั้งที่ผิวหนังหรือ mucous membrane เกิดจาก DNA poxvirus ติดต่อกันได้โดยสัมผัส พบได้ 5% ของผู้ป่วยเอดส์ พบเป็นตุ่มขนาด 3 – 5 มม. ที่ตรงกลางบุ๋ม

4. ความผิดปกติของหลอดเลือดที่เยื่อบุตา อาจจะพบได้ 70 – 80% ของผู้ป่วยเอดส์ อาจเห็นเป็นหลอดเลือดโป่งพองเป็นหย่อมๆ ขนาดของหลอดเลือดไม่สม่ำเสมอ มักจะไม่ก่อให้เกิดอาการมากมาย นอกจากตาแดงตลอดจนมีเลือดออกใต้ที่เยื่อบุตา

5. ตาแห้ง (keratocojunctivitis sicca) พบได้ 10 – 20% เชื่อว่าเป็นเพราะไวรัสเอดส์ ทำลายต่อมสร้างน้ำตา มีเม็ดเลือดขาวแทรกอยู่ในเนื้อต่อมน้ำตา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของตาแห้ง

6. การติดเชื้อในกระจกตา พบได้ทั้ง เริม Herpes simplex และงูสวัด ที่มักจะยุ่งยากในการรักษากว่าคนปกติ มีระยะเวลาการเป็นโรคนานและการกลับคืนได้บ่อย แม้กระจกตาติดเชื้อจากแบคทีเรีย และเชื้อราไม่มากไปกว่าคนปกติแต่มักเป็นรุนแรงกว่า และยังเกิดจากเชื้อแปลกๆ ที่ไม่ค่อยพบในคนปกติ เช่น microsporidosis

7. ม่านตาอักเสบ ชนิดไม่รุนแรงมักพบร่วมกับการติดเชื้อในจอตาจากเชื้อไวรัส CMV , HSV หรือ VZV แต่ถ้า ในกรณีรุนแรงพบร่วมกับภาวะ toxoplasmosis, TB , ซิฟิลิส ร่วมด้วย

8. HIV retinopathy พบได้ 50 – 70% คือ เป็นความผิดปกติของจอตาที่พบบ่อยที่สุด เชื่อว่าเชื้อไวรัสเอดส์เข้าไปทำลายหลอดเลือดในจอตา

9. CMV retinitis เป็นการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดทางตา เป็นการติดเชื้อในชั้นในสุดของจอตา ผู้ป่วยมักจะมาด้วยตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว หรืออะไรลอยไปมาโดยตาไม่แดง และมักทำให้ตามัวลงอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบภาวะ acute retinal necrosis จากติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อ H. gester , progressive outer retinal necrosis , Syphilis , TB , Pneumocystitis , Toxo , Histo plasma , Cryptococcal

10. อาการทางจักษุประสาท พบได้ 10 – 15% ได้แก่ cryptococcal meningitis neusosyphilis , มีอัมภาตของเส้นประสาท , ทำให้เห็นภาพซ้อน , ลานสายตาผิดปกติ เห็นภาพหลอน เป็นต้น

11. อาการทางเบ้าตาพบไม่บ่อยนัก ที่พบได้แก่ lymphoma ในเบ้าตา , การอักเสบของเบ้าตาจากเชื้อรา Aspergillus

12. อาการทางตาอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ ตาไม่สู้แสง ตาบอดกลางคืน (night blindness) เชื่อว่าเกิดจากภาวะทุโภชนาและการดูดซึมวิตามินเอ ผิดปกติ หลายๆรายที่มีสายตาสั้น จะพบว่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้