สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 50: ภัยจากคอนแทคเลนส์

ผู้ป่วยรายแรกของวันนี้เป็นหญิงวัยประมาณ 40 ปี พาลูกสาวหน้าใสสมวัย 17 ปี มาให้ดูตา แรกสังเกต เด็กสาวหน้าตาสะสวยแต่ไม่ยอมสบตา ตาทั้ง 2 ข้างหรี่ลงกว่าปกติ เมื่อทดลองใช้ไฟฉายส่องเข้าที่ตา จะร้องว่าเจ็บตาและหลบแสงไฟทันที เมื่อจะเริ่มการตรวจต้องมีการซักประวัติเด็กสาวขอให้มารดาออกนอกห้องตรวจ ขอคุยกับหมอเป็นการส่วนตัว จึงเริ่มรับรู้ว่าเด็กน่าจะมีอะไรปิดบังมารดาอยู่ เมื่อได้คุยกับผู้ป่วยจึงทราบว่าเด็กสาวเพราะความอยากสวยอยากมีตาโตตามโฆษณาว่ามีคอนแทคฯตาโตและสามารถซื้อหรือสั่งจาก Internet และมีเพื่อนๆ ที่โรงเรียนก็สั่งใช้กัน ราคาคู่ละ 200 กว่าบาท ใช้ได้เป็นปี ซึ่งเด็กอาจเข้าใจผิดไปเอง หรือผู้ขายแจ้งเด็กเพื่อจูงใจการซื้อก็เป็นได้ เนื่องจากคอนแทคฯมีสีแตกต่างกันจึงแลกกันใช้ในหมู่เพื่อนทำแบบนี้มาเป็นเดือน โดยไม่มีปัญหาอะไร และเพื่อเป็นการประหยัดใช้น้ำเกลือทำเองในการล้างคอนแทค โดยใช้น้ำสะอาดเติมเกลือลงไป มา 2 วันก่อน เด็กสาวรู้สึกเจ็บตาเล็กน้อยเวลาใส่ พอถอดออกไม่กี่ชั่วโมงอาการก็หายไปจึงไม่รู้สึกอะไร คงใส่ตามเดิม มาวันนี้ตื่นขึ้นมาเจ็บตาทั้ง 2 ข้างมาก น้ำตาไหลพราก กลัวแสง เจ็บเคืองตาตลอด มารดาจึงพามารักษา

ตัวอย่างข้างต้น เป็นผลแทรกซ้อนจากการใช้ คอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ไม่มีความรู้ที่จะดูแลรักษาคอนแทคฯ ที่ดีพอ โดยสรุปตัวอย่างข้างต้นที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่

  1. ใช้คอนแทคฯโดยไม่มีข้อบ่งชี้ ไม่ได้มีความจำเป็นอะไร เพราะสายตาปกติดี
  2. ไม่ได้รับการตรวจตาก่อนว่าสภาพตาเหมาะที่จะใส่คอนแทคฯหรือไม่
  3. ใช้คอนแทคฯจากการสั่งซื้อ โดยไม่ได้ดูขนาดของความโค้งของกระจกตาหรือลองคอนแทคฯที่เหมาะสมก่อน
  4. ไม่ได้รับการแนะนำที่ถูกต้องถึงอัตราการเสี่ยงที่จะมีผลร้ายต่อดวงตา รวมทั้งวิธีดูแลรักษาคอนแทคฯที่ถูกต้อง
  5. ใช้คอนแทคฯร่วมกับเพื่อน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ซึ่งเป็นข้อห้ามอยู่แล้ว
  6. ใช้น้ำเกลือทำเอง เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค

ความผิดพลาดหลายข้อของเด็กสาวนี้ จึงนำมาซึ่งผลแทรกซ้อนที่สำคัญต่อกระจกตาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งตรวจพบในผู้ป่วยรายนี้ เป็นการอักเสบเป็นจุดเล็กๆ กระจายทั่วกระจกตาทั้ง 2 ข้าง แม้ว่าจะยังโชคดีที่เป็นเพียงกระจกตาอักเสบที่ไม่มีการติดเชื้อ แต่เป็นผลจากการใช้คอนแทคฯที่ไม่เหมาะสม ทำให้กระจกตาขาดออกซิเจนจึงเกิดการอักเสบขึ้น ผลแทรกซ้อนจากการใช้คอนแทคฯแม้จะมีไม่มาก หากใช้คอนแทคฯที่ถูกต้อง มีการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด แต่จะพบได้มากขึ้นหากละเลยโดย

  1. กระจกตาเป็นแผลเปื่อย/กระจกตาอักเสบ (corneal ulcer) เป็นภาวะที่รุนแรงสุด ส่วนมากเริ่มจากกระจกตาขาดออกซิเจนมีแผลเล็กๆ นำมาก่อน หากเลนส์ไม่สะอาดหรือน้ำยาที่แช่สกปรก มีเชื้อโรคปนเปื้อน จะทำให้แผลเล็กๆ ถูกเชื้อโรคเข้าไปทำร้าย กลายเป็นแผลเปื่อยมีเนื้อกระจกตาหลุดลอกหายไป กระจกตาบางลงๆ เชื้อโรคอาจลุกลาม ลึกลงจนกระจกตาทะลุ เชื้อโรคลามอักเสบถึงชั้นในของลูกตาซึ่งยิ่งเพิ่มความยุ่งยากในการรักษา อีกทั้งแม้เป็นระยะต้นและได้ยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม โรคหายแต่กระจกตาจะมีแผลเป็นบดบังการมองเห็นมากน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของแผลเป็น อีกทั้งเชื้อโรคบางตัว เช่น เชื้อรา เชื้อ Acanthamoeba นั้น หายาที่รักษาได้ผลได้ยาก ใช้เวลานานในการรักษา
  2. การอักเสบของกระจกตาชนิดไม่มีการติดเชื้อแต่เป็นแผลตื้นๆ ที่ผิวกระจกตาที่เรียกกันว่า punctate keratitis บางรายอาจเห็นลักษณะคล้ายเป็น epithelial cyst (เป็นตุ่มเล็กๆ ที่ผิวกระจกตา) ซึ่งอาจเกิดจากพิษของน้ำยาที่ใช้ในคอนแทคเลนส์ แพ้สารกันเสียในน้ำยา ใช้คอนแทคฯที่หลวมไปหรือคับไป และ/หรือใส่นานเกินไป
  3. กระจกตาเป็นแผลถลอก มีการหลุดลอกของชั้นผิว (corneal abrasion) อาจจะเป็นผลจากขอบคอนแทคเลนส์ หรือการใส่ถอดที่ไม่ชำนาญ หรือบางรายคอนแทคฯไม่สะอาด มีสิ่งแปลกปลอมที่ผิวคอนแทคฯซึ่งอาจครูดผิวกระจกตาทำให้ผิวหลุดลอกได้ ภาวะนี้ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดมาก และอาจนำไปสู่การติดเชื้อตามมาได้
  4. มีการอักเสบของเยื่อบุตาใต้หนังตาบน ลามมาถึงเยื่อบุตาบริเวณชิดตา กระจกตาด้านบน ร่วมกับการอักเสบของผิวกระจกตาด้านบนที่เรียกกันว่า superior limbic keratoconjunctivitis เชื่อกันว่าน่าจะจากตัวคอนแทคฯถูที่ขอบกระจกตาไปมาเป็นเวลานาน หรือตัวคอนแทคฯไม่พอดีกับตา ตลอดจนจากการแพ้น้ำยาต่างๆ ที่ใช้กับคอนแทคเลนส์ ภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตาคล้ายมีผงอยู่ในตาตลอดเวลา ระคายเคืองในตา และในที่สุดก็จะใส่คอนแทคฯไม่ได้
  5. มีหลอดเลือดเข้ามาในเนื้อกระจกตา โดยปกติกระจกตาจะไม่มีหลอดเลือดเข้ามา หากกระจกตากระทบกระเทือน ขาดออกซิเจนนานๆ จะเกิดปฏิกิริยามีหลอดเลือดจากเยื่อบุตาฉาบเข้ามา ซึ่งทำให้รอบๆ กระจกตาแดง มีการอักเสบได้ อีก ทั้งหากหลอดเลือดลามเข้าศูนย์กลางมากขึ้น อาจมีผลทำให้กระจกตาไม่ใส บดบังการมองเห็น
  6. เยื่อบุตาอักเสบชนิด GPC ซึ่งในบางรายทำให้ไม่สามารถใช้คอนแทคได้อีกต่อไป
  7. ตาแห้ง การใช้คอนแทคฯนานๆ ทำให้กระบวนการสร้างน้ำตาผิดปกติ ในภายภาคหน้า มักจะมีอาการตาแห้ง
  8. รู้อย่างนี้แล้ว หากอยากใช้คอนแทคฯต้องดูความเหมาะสมของตา ข้อบ่งชี้ในการใช้ และดูแลคอนแทคฯอย่างดีด้วย