สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 48: การควบคุมหรือชะลอภาวะสายตาสั้น

ในเด็กแรกคลอด ปกติส่วนใหญ่จะมีสายตายาวและสายตาเอียง พอโตขึ้นมีขบวนการทางธรรมชาติที่เรียกกันว่า Emmetropization เพื่อปรับให้มีสายตาปกติในที่สุดเป็นส่วนใหญ่ (คนส่วนใหญ่มีสายตาปกติ) โดยที่ลูกตาโตขึ้นมีความยาวมากขึ้น จึงต้องมีกระจกตาและแก้วตาแบนลงเพื่อลดกำลังหักเห เพื่อแสงจะได้ไปโฟกัสที่จอตาได้พอดี หากขบวนการนี้ได้สมดุลเด็กจะมีสายตาปกติในอายุ 7 – 8 ปี หากเกิดความไม่สมดุล เช่น ลูกตายาวมากไป กำลังหักเหลดลงไม่พอ จึงทำให้ภาพจากระยะไกลมาโฟกัสอยู่หน้าจอตา เกิดภาวะสายตาสั้น เมื่อเริ่มมีสายตาสั้นพบว่าสายตาสั้นจะเพิ่มขึ้นตามอายุเด็กที่เพิ่มขึ้น โดยที่ส่วนมากจะมาหยุดสั้นในราวอายุ 18 – 20 ปี ระหว่างนี้บางรายสั้นเพิ่มเร็ว บางรายช้า จึงได้มีการศึกษาพยายามยับยั้งไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

1. ทฤษฎีที่เชื่อว่าการเพ่งทำให้สายตาสั้น จากการพบว่าขณะที่เราเพ่งมองวัตถุใกล้ มีการเพิ่มกำลังหักเหของแก้วตา เพื่อโฟกัสภาพระยะใกล้เท่ากับเป็นการทำให้เกิดสายตาสั้นเพิ่มมากกว่าเวลามองไกล หากเพ่งอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา หรือนานเข้าน่าจะทำให้สายตาสั้นเพิ่มถาวร การลดการเพ่งดูเหมือนน่าจะช่วยให้สายตาสั้นไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มช้าลง การลดการเพ่งอาจทำได้โดย

1.1 ใช้ยาที่เรียกว่า cycloplegic ซึ่งเป็นยาทำให้กล้ามเนื้อที่ก่อให้เกิดการเพ่ง (ciliary muscle) เป็นอัมพฤกษ์ไม่สามารถทำงาน จึงเพ่งไม่ได้ ยาในกลุ่มนี้มีทั้งที่ออกฤทธิ์อยู่ระยะสั้น 4 – 6 ชม. คือ cyclopentolate แต่ถ้าจะให้ลดการเพ่งได้มากที่สุดต้องเป็น atropine ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีข้อเสียที่ทำให้ม่านตาขยายด้วย ตาสู้แสงไม่ได้ ไม่สบายตา มองใกล้ไม่ได้

1.2 เมื่อเวลาเราต้องการมองใกล้ ต้องมีการเพ่งโดยอัตโนมัติ เพื่อมิให้เกิดการเพ่ง ให้ใส่แว่นสายตายาวเวลามองใกล้ดังเช่นคนสูงอายุที่กล้ามเนื้อที่ช่วยการเพ่งเสื่อมลงแล้วใช้ จึงเชื่อกันว่าถ้ามองใกล้ใช้แว่นสายตายาว (แว่นบวก) ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้เพ่งไม่ทำงานโดยปริยาย

1.3 ในกรณีที่มีสายตาสั้นอยู่แล้ว ให้ใช้แว่นสายตาน้อยกว่าจริงจึงเสมือนใช้แว่นสายตายาวเพื่อมองใกล้ ลดการเพ่งลง แต่ข้อเสียมองไกลไม่ชัดเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตามการลดการเพ่งโดยขบวนการต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ได้ผล บางรายงานว่า ได้ผลบางรายงานว่าไม่ได้ผล คงต้องดูผลงานการศึกษาในระยะยาวต่อไป

2. การปรับความโค้งของกระจกตาให้แบนลง โดยใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง เนื่องจากมีข้อสังเกตพบว่า หากใช้วิธีแก้ไขสายตาสั้นด้วยคอนแทคเลนส์แข็งนานๆ พบว่ากระจกตาแบนลงทำให้สายตาสั้นลดลง หรือไม่เพิ่มขึ้น จึงเชื่อกันว่าหากใช้คอนแทคเลนส์นานๆ จะกดทำให้กระจกตามีกำลังน้อยลง ลดขนาดหรือตาสั้นไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มอย่างช้าๆ แต่พบว่าคอนแทคฯชนิดนี้ทำให้ตาสั้นน้อยลงชั่วคราวเท่านั้น

ในปัจจุบันมีการใช้คอนแทคเลนส์ชนิดที่เรียกว่า O K เลนส์ (โอเคเลนส์) ซึ่งมีความโค้งลักษณะเฉพาะแตกต่างจากคอนแทคฯที่แก้ไขสายตาสั้นทั่วๆไป กดกระจกตาให้แบนลง โดยเฉพาะบริเวณตรงกลางด้วยการใส่คอนแทคฯในเวลานอน พอตื่นขึ้นกระจกตาจะแบนอยู่ได้ระยะหนึ่งอาจจะนานกว่าคอนแทคเลนส์ปกติ ระยะแรกๆ ใช้ใส่เวลานอน พอกลางวันถอดออก จะหายสายตาสั้นไปได้ตลอดเวลากลางวัน คาดกันว่าน่าจะชลอสายตาสั้นลงได้ในภายภาคหน้า คงจะมีการศึกษาออกแบบความโค้งให้กดกระจกตาให้แบนลงได้นานขึ้นจนถาวรในที่สุด

3. แม้จะไม่รู้สาเหตุของตาสั้นเพิ่มขึ้น แต่มีการสังเกตถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่พบในคนสายตาสั้นเพิ่มเร็ว ได้แก่ การอ่านหนังสือมากๆ การใช้คอมพิวเตอร์นานๆ การใช้สายตาใกล้นาน การอ่านหนังสือในที่มีด จึงมักจะแนะนำให้ใช้สายตาโดยต้องมีการพักสายตาเป็นระยะๆ โดยการหลับตาหรือมองไกลๆ หลังดูใกล้ 30 นาที อ่านหนังสือในที่แสงสว่างพอ ระยะหลังมีผู้ศึกษาว่า ถ้าเด็กอยู่ในที่แจ้งมากจะมีอุบัติการของสายตาสั้นน้อยกว่า ผู้ที่อยู่แต่ภายในห้องไม่ออกไปที่โล่งแจ้ง จึงควรให้เด็กมีกิจกรรมในที่โล่งแจ้งมากขึ้น

4. มีอยู่ระยะหนึ่ง มีการใช้ยาหยอดตาเพื่อชะลอสายตาสั้น ปัจจุบันพบว่าไม่ได้ผล จึงไม่มีการใช้ยาลักษณะนี้อีก